ปริศนา 10 ปี “เที่ยวบิน MH370” หายไร้ร่องรอย

ต่างประเทศ
8 มี.ค. 67
13:30
1,640
Logo Thai PBS
ปริศนา 10 ปี “เที่ยวบิน MH370” หายไร้ร่องรอย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผ่านมาแล้ว 10 ปี เครื่องบินสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลนส์ เที่ยวบิน MH370 ยังหายไปอย่างไร้ร่องรอย จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถไขปริศนาได้ว่าเครื่องบินทั้งลำพร้อมคนบนเครื่อง 239 คนหายไปไหนและหายไปได้อย่างไร ล่าสุดมีรายงานว่ารัฐบาลมาเลเซียอาจเริ่มการค้นหารอบใหม่

วันนี้ (8 มี.ค.2567) เป็นวันครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์เครื่องบินของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลนส์ เที่ยวบิน MH370 หายไปอย่างไร้ร่องรอย โดยมีการจัดงานรำลึกในกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งครอบครัวและเพื่อนของผู้สูญหายที่อยู่บนเที่ยวบินดังกล่าวต่างคาดหวังให้รัฐบาลเริ่มปฏิบัติการค้นหาเครื่องบินอีกครั้ง

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 มี.ค.2014 เที่ยวบิน MH370 ออกเดินทางจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ มุ่งหน้าสู่กรุงปักกิ่งของจีน แต่ปรากฏว่าหลังจากเครื่องบินออกเดินทางได้ไม่นาน นักบินได้เปลี่ยนเส้นทางบินไปทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย ก่อนจะหายจากจอเรดาร์ และเชื่อว่าเครื่องบินตกลงในจุดดังกล่าว ซึ่งการหายไปของเที่ยวบิน MH370 ถือเป็นหนึ่งในปริศนาที่ลึกลับที่สุดของประวัติศาสตร์การบินโลก

ทันที่ที่ทราบข่าวว่าเครื่องบินหายไป รัฐบาลของ 3 ประเทศคือ ออสเตรเลีย จีนและมาเลเซีย ได้ร่วมกันออกค้นหาเครื่องบินทันที การค้นหารอบแรกใช้เวลานานเกือบ 3 ปี ครอบคลุมพื้นที่รวมประมาณ 120,000 ตารางกิโลเมตร ก่อนจะยุติการค้นหาเนื่องจากไม่มีความคืบหน้า

อีก 1 ปีต่อจากนั้น Ocean Infinity บริษัทเอกชนของสหรัฐฯ ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการสำรวจใต้ทะเล ได้ใช้เวลาประมาณ 4 เดือนค้นหาทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ เพิ่มเติม

หลังจากนั้นอีกไม่กี่ปี มีการพบชิ้นส่วนของเครื่องบินกระจายอยู่บริเวณชายฝั่งทวีปแอฟริกาและเกาะในมหาสมุทรอินเดีย แต่ชิ้นส่วนที่พบก็ยังไม่สามารถไขปริศนาได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเที่ยวบินนี้และซากเครื่องบินอยู่ที่ไหน

หลากทฤษฏีคาดเดา MH370 หายไป

การหายไปอย่างลึกลับนำไปสู่การคาดเดาโดยมีหลากหลายทฤษฏี ซึ่งหนึ่งในทฤษฏีที่มีการพูดถึงกันมากที่สุด คือ นักบินจงใจทำให้เครื่องบินตก

Zaharie Ahmad Shah วัย 53 ปี กลายเป็นผู้ต้องสงสัยคนสำคัญในเรื่องนี้ เนื่องจากการสอบสวนพบว่าเขามีปัญหากับภรรยาที่ต้องการเลิกรากับเขา จึงมีการคาดเดาว่าซาฮารีอาจต้องการหนีปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย โดยขังตัวเองไว้ในห้องนักบิน ปิดระบบการสื่อสารทั้งหมดและปล่อยให้เครื่องบินบินด้วยระบบอัตโนมัติ จนน้ำมันหมดและตกลงในทะเล แต่ครอบครัวและคนที่รู้จักกับซาฮารีไม่เชื่อ เนื่องจากเขาเป็นคนที่อุทิศตัวเพื่อครอบครัวและรักอาชีพนักบิน

อีกหนึ่งทฤษฏีที่พูดถึงกันมากคือ สหรัฐฯ ยิงเครื่องบินตก บางทฤษฏีบอกว่าสาเหตุที่สหรัฐฯ ยิงเครื่องบินลำนี้ เนื่องจากเครื่องบินถูกจี้และมีเป้าหมายที่จะใช้เครื่องบินเพื่อโจมตีฐานทัพของสหรัฐฯ ที่อยู่ในมหาสมุทรอินเดีย

บางทฤษฏีก็เชื่อว่า บนเที่ยวบิน MH370 มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐฯ ที่กำลังจะถูกส่งไปให้รัฐบาลจีน ซึ่งสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้อุปกรณ์ชิ้นนั้นตกไปอยู่ในมือของจีน จึงยิงทำลายเครื่องบินทั้งลำ

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายทฤษฏีที่ฟังดูเหลือเชื่อ เช่น ความเชื่อที่ว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย สั่งให้จี้เครื่องบินและลงจอดที่คาซัคสถาน โดยแฮกข้อมูลการบินเพื่อลวงให้เข้าใจว่าเครื่องบินเลี้ยวไปทางมหาสมุทรอินเดีย และมีบางทฤษฏีบอกว่าเรือดำน้ำของจีนยิงขีปนาวุธใส่เครื่องบิน เพื่อสังหารเป้าหมายซึ่งอยู่บนเที่ยวบินดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงสมมติฐานและการคาดเดาที่ไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ที่เชื่อถือได้มายืนยัน แต่หากพบซากเครื่องบินแล้วก็อาจมีหลักฐานหลงเหลือที่น่าจะบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเที่ยวบิน MH370

ลุ้นรัฐบาลมาเลเซียเริ่มการค้นหารอบใหม่

ล่าสุด รัฐบาลมาเลเซียเตรียมหารือกับตัวแทนของบริษัท Ocean Infinity ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนในสหรัฐฯ ที่เคยค้นหาเที่ยวบินดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งบริษัทเสนอทำข้อตกลงกับรัฐบาลมาเลเซียเพื่อทำการค้นหารอบใหม่อีกครั้ง ภายใต้เงื่อนไขว่า หากค้นหาไม่เจอ รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงิน

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังเชื่อมั่นว่าการค้นหาในครั้งนี้มีโอกาสสูงที่จะพบซากเครื่องบิน เนื่องจากมีเทคโนโลยีการค้นหาใต้น้ำที่ทันสมัยมากขึ้น รวมถึงการใช้หุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำ โดยครั้งนี้พื้นที่ค้นหาอยู่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 15,000 ตารางกิโลเมตร นอกชายฝั่งประเทศออสเตรเลีย

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมาเลเซียระบุว่าจะไม่เปิดการค้นหารอบใหม่ หากไม่มีข้อมูลใหม่หรือหลักฐานที่เชื่อถือได้ที่จะนำไปสู่การระบุพิกัดของเครื่องบิน ขณะที่ทางบริษัทพูดเป็นนัยว่า มีหลักฐานที่มีน้ำหนักมากเพียงพอที่จะโน้มน้าวให้รัฐบาลมาเลเซียยอมให้เริ่มการค้นหาครั้งใหม่ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยว่าหลักฐานดังกล่าวคืออะไรและจะต้องลุ้นว่ารัฐบาลมาเลเซียจะมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้

อ่านข่าวอื่นๆ

"กุมภาพันธ์ 2567" ทุบสถิติร้อนสุดเป็นประวัติการณ์

วิจัยชี้ "อาร์กติก" อาจไร้น้ำแข็ง นานถึง 1 เดือนต่อปี กลางศตวรรษนี้

เฮติวิกฤต! ยึดสนามบิน-ปล่อยนักโทษ กลุ่มอาชญากรประกาศล้มรัฐบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง