ทช.ชันสูตรซากพะยูนเกยตื้นเกาะลิบง คาดป่วยตายตามธรรมชาติ

สิ่งแวดล้อม
8 มี.ค. 67
20:16
348
Logo Thai PBS
ทช.ชันสูตรซากพะยูนเกยตื้นเกาะลิบง คาดป่วยตายตามธรรมชาติ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมทะเลเผยผลชันสูตร "ซากพะยูน" เกยตื้นปากคลองบ้านพร้าว เกาะลิบง พบความผิดปกติหลายระบบร่วมกับภาวะอ่อนแอจากวัยแก่ คาดสาเหตุป่วยตายตามธรรมชาติ

วันนี้ (8 มี.ค.2567) ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ได้รับแจ้งจากเครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก เกาะลิบง จ.ตรัง ว่า พบซากพะยูนเกยตื้นบริเวณปากคลองบ้านพร้าว ต.เกาะลิบง อ.กันตัง

เจ้าหน้าที่ ศวอล. ร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง เข้าตรวจสอบและขนย้ายซากไปยังศูนย์วิจัยฯ เพื่อชันสูตรหาสาเหตุการตาย

จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าเป็นซากพะยูน (Dugong dugon) เพศผู้ โตเต็มวัย ความยาวลำตัววัดแนบ 265 ซม. ความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในเกณฑ์ผอม สภาพซากสด ภายนอกพบลักษณะแผลหลุมลึกยาว 7.5 x 4 ซม.บริเวณข้างลำตัวด้านบนครีบข้างซ้าย

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

เปิดผ่าดูอวัยวะภายใน พบก้อนลิ่มเลือดสีขาวอยู่ในหัวใจห้องบนขวา ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นหลังจากการตายและมีเลือดคั่งในหัวใจ บริเวณส่วนของทางเดินหายใจ พบฟองอากาศภายในหลอดลมและเนื้อเยื่อปอด คาดว่าเกิดจากการสำลักน้ำ บริเวณม้ามพบจุดเลือดออกกระจายเป็นหย่อม พบปื้นเลือดออกและเลือดคั่งที่เนื้อเยื่อไต ส่วนทางเดินอาหารพบเศษหญ้าทะเลเล็กน้อยและพยาธิตัวกลมจำนวนมาก

บริเวณลำไส้พบก้อนเนื้อขนาด 2 x 1 ซม. และก้อนหนองขนาด 1 x 1 ซม. และพยาธิใบไม้เล็กน้อย ตับอ่อนพบลักษณะบวมน้ำและมีเลือดคั่ง และพบเศษเชือกไนล่อนในกระเพาะอาหาร ซึ่งไม่ใช่สาเหตุการตาย

สรุปสาเหตุการตายคาดว่าป่วยตามธรรมชาติ เนื่องจากพบความผิดปกติหลายระบบ ป่วยเรื้อรังเป็นเวลานาน ร่วมกับภาวะอ่อนแอจากวัยแก่ จึงทำให้สัตว์ตายในที่สุด

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป

ส่วนปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหา ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านหญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายาก ด้านสมุทรศาสตร์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัย ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายในพื้นที่

คณะดังกล่าวได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล รวมทั้งได้พูดคุยกับชาวบ้านและชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ เมื่อวันที่ 16-18 ก.พ.ที่ผ่านมา รวมทั้งวางแผนลงพื้นที่อีกครั้งในวันที่ 10-16 มี.ค.นี้ เพื่อหาสาเหตุหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ก่อนจะนำมาออกมาตรการแก้ไขหรือฟื้นฟูหญ้าทะเลโดยเร็ว

"ธรณ์" ชี้หญ้าทะเลตรัง-กระบี่ตายจากโลกร้อน

ขณะที่ ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" ระบุว่า หญ้าทะเลใน จ.ตรังและกระบี่ตายเป็นจำนวนมากจากโลกร้อน หนนี้เริ่มตายในปี 2565-2567 และยังไม่มีท่าทีว่าจะฟื้น อีกทั้งอาจขยายพื้นที่ออกไปเรื่อยๆ ขณะที่มีพะยูน 220 ตัวอยู่ใน จ.ตรังและกระบี่ (ศรีบอยา) ซึ่งเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

ในขณะที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีงบศึกษาวิจัยสัตว์หายากน้อย จึงทำการสำรวจได้ไม่เต็มที่ แม้คาดว่าพะยูนอาจเคลื่อนย้ายไปหาแหล่งที่ยังมีหญ้าเหลือ โดยมีเส้นทางขึ้นเหนือ (กระบี่ตอนบน/พังงา/ภูเก็ต) หรือเส้นทางลงใต้ (สตูล) แต่ก็ยังบอกไม่ได้ชัดเจน

ขณะเดียวกันหญ้าทะเลไม่เคยหายไปมากขนาดนี้เพราะตายจากโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจึงเป็นเรื่องยาก นอกจากนี้การปลูกฟื้นฟูต้องเลือกพื้นที่และพันธุ์หญ้าที่เหมาะสม แต่ไม่สามารถทำได้ทันทีเพราะสภาพแวดล้อมแปรปรวน

อย่างไรก็ตาม ผศ.ธรณ์ ยังระบุถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องพะยูน คือการสำรวจให้กว้างที่สุด ดูการอพยพของพะยูน เพื่อดูแลแหล่งหญ้าใหม่ที่พะยูนอาจไป รวมถึงมีแนวทางใหม่ๆ เช่น การติดตามสัตว์แบบ Tracking ด้วยดาวเทียม การตรวจสุขภาพแบบจับมาตรวจ การให้อาหารเฉพาะหน้า ฯลฯ ซึ่งอาจต้องเริ่มคิดกัน และทางออกที่สำคัญสุดคือการสนับสนุนงบประมาณให้โครงการต่างๆ ที่ ทช.เสนอไป เพื่อให้งานเดินหน้าต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของพะยูน

อ่านข่าวอื่นๆ

อุทยานฯ ทบทวนระเบียบเยียวยาผู้เสียหายจากลิง

จระเข้น้อย NEW GEN คืนถิ่น"บึงบอระเพ็ด" ในรอบ 7 ปี

อช.หาดนพรัตน์ฯ แจ้งจับนักท่องเที่ยว ดำน้ำจับหอยที่ "เกาะพีพี"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง