คุณภาพชีวิต "จักรยานยนต์รับจ้าง" อาชีพกลางฝุ่น

สังคม
10 มี.ค. 67
18:07
374
Logo Thai PBS
คุณภาพชีวิต "จักรยานยนต์รับจ้าง" อาชีพกลางฝุ่น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วินจักรยานยนต์รับจ้าง อาชีพเสี่ยงที่ต้องรับมลพิษในอากาศเป็นประจำ ทำให้ผู้ขับขี่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ สายตาพร่ามัว และปอดที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น

วันนี้ (10 มี.ค.2567) นายสงกา รำมะนา วินจักรยานยนต์รับจ้าง ซอยพหลโยธิน 34 อายุ 65 ปี เปิดเผยว่า แต่ละวันต้องเผชิญกับฝุ่น PM 2.5 เป็นประจำ ยิ่งปัจจุบันค่าฝุ่นยิ่งเพิ่มสูงขึ้น จนสังเกตได้ด้วยตา และเมื่อมีฝนตกลงมา ก็พบว่ารถจักรยานยนต์เต็มไปด้วยฝุ่นละอองเกาะอยู่

อายุที่เพิ่มขึ้นทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าบ่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูง การหายใจก็ลำบาก ถึงแม้จะไม่มีโรคประจำตัว และใส่หน้ากากอนามัยก็ยังช่วยไม่ได้

ผลกระทบทางสุขภาพจากการรับฝุ่น เป็นสิ่งที่กลุ่มผู้ขับขี่วินจักรยานยนต์รับจ้างต้องเผชิญ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนที่ทนไหวก็ยังดี แต่สำหรับคนที่เป็นภูมิแพ้ก็ใช้ชีวิตลำบาก นายเจน ขวัญอ่อน วินจักรยานยนต์รับจ้าง ซอยพหลโยธิน 34 อีกคน ต้องพกยาพ่นติดตัวตลอดเวลา เพราะเมื่อค่าฝุ่นพุ่งสูง จะเริ่มมีอาการหายใจไม่ออก และไอรุนแรง

ข้อมูลสถานการณ์สุขภาพของวินจักรยานยนต์รับจ้าง ที่ สสส. ร่วมสำรวจกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ป.ป.ส. กทม. และมูลนิธิรักษ์ไทย พบว่า โรคที่กลุ่มผู้ขับขี่วินจักรยานยนต์รับจ้าง เป็นมากที่สุด ได้แก่

  • ความดันโลหิตสูง ร้อยละ 58.6
  • เบาหวาน ร้อยละ 31.7
  • กระเพาะอาหาร ร้อยละ 11.54
  • ไขมันในเลือด หลอดเลือดหัวใจและสมอง ร้อยละ 10.57
  • ภูมิแพ้ ร้อยละ 5.77

การขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างที่ต้องรับมลพิษในอากาศเป็นประจำ ทำให้ผู้ขับขี่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ สายตาพร่ามัว และปอดที่ต้องทำงานหนัก ขณะเดียวกันการวิ่งรถในชุมชนที่มีลูกระนาดมากและเป็นหลุมบ่อทำให้มีอาการปวดหลังบ่อยและเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

สิ่งสำคัญที่วินจักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบต้องการ คือ บริการตรวจสุขภาพประจำปีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสายตา หู และปอด รวมถึงหน้ากากป้องกันฝุ่นมลพิษ ซึ่ง พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัด กทม. เน้นย้ำว่า อาชีพกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ กทม. กำลังเดินหน้าตรวจสุขภาพ

ขณะที่ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เปิดเผยว่า พยายามอบรม สร้างการรับรู้ด้านการดูแลสุขภาพให้กลุ่มอาชีพนี้ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่นที่ยังคงกระทบต่อเนื่อง

อ่านข่าวอื่น ๆ

นักท่องเที่ยวล้น-ขยะเกลื่อน "ภูเขาไฟฟูจิ" เล็งเก็บเงิน 500 บาท 

"เศรษฐา" โชว์ผ้าขาวม้าสู่อินเตอร์ต่อยอด Soft Power ยุโรป

พากลับบ้าน! รับศพหญิงไทยพลัดตกตึก 23 ชั้นในมาเลเซีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง