คืนสัญชาตญาณสัตว์ป่า “ทับเสลา” ช้างน้อยดอยผาเมือง

สิ่งแวดล้อม
11 มี.ค. 67
12:49
1,644
Logo Thai PBS
คืนสัญชาตญาณสัตว์ป่า “ทับเสลา”  ช้างน้อยดอยผาเมือง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

“ทับเสลา” ไม่ใช่ชื่อเขื่อน แต่คือนามของ “ช้างน้อย” ผู้โด่งดังและเป็นที่กล่าวขานในโลกโซเชียล เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2563 หลังพลัดโขลงจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี พื้นที่มรดกโลก

ครั้งนั้น “ทับเสลา” เป็นเพียงลูกช้างตัวเล็กๆ วัยเพียง 2-3 เดือน ยังไม่มีชื่อ แต่เจ้าหน้าที่ห้วยขาแข้งได้นำมาเลี้ยงไว้ในพื้นที่และตั้งชื่อเจ้าช้างน้อยนี้ว่า “ทับเสลา”

ผ่านไปเพียง 3 ปี จากเด็กหญิงทับเสลา ช้างพังที่เคยเป็นขวัญใจพ่อๆ และชาวโซเชียล ได้เติบใหญ่ขึ้นเมื่อถูกส่งตัวไปฝึกการใช้ชีวิตในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จ.ลำปาง “ทับเสลา” มีพัฒนาการการใช้ชีวิตอย่างไร และจะสามารถคืนสู่ธรรมชาติตามสัญชาตญาณป่าได้หรือไม่

อ่านข่าว : ปลดกระดิ่งไม้ปล่อยลูกช้าง “ทับเสลา” คืนป่าพร้อมแม่รับ “วาเลนไทน์”

พังวาเลนไทน์ พังทับเสลา พังดอกรัก ในวันปล่อยลูกช้างกลับคืนสู่ป่าดอยผาเมือง 30 พ.ย.2565

พังวาเลนไทน์ พังทับเสลา พังดอกรัก ในวันปล่อยลูกช้างกลับคืนสู่ป่าดอยผาเมือง 30 พ.ย.2565

พังวาเลนไทน์ พังทับเสลา พังดอกรัก ในวันปล่อยลูกช้างกลับคืนสู่ป่าดอยผาเมือง 30 พ.ย.2565

“วันช้างไทย” 13 มีนาคมนี้ ไทยพีบีเอสออนไลน์ชวนเกาะติดชีวิตทับเสลา ลูกช้างป่าหลงโขลงอีกครั้ง ด้วยเหตุว่า “ทับเสลา” ถือเป็นโมเดลความสำเร็จของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และอีกหลายหน่วยงาน ที่สามารถนำลูกช้างป่าหลงแม่กลับไปใช้ชีวิตในป่าใหญ่ได้สำเร็จ

อัปเดตชีวิตทับเสลา ผ่านสายตา “คนเคยเลี้ยง”

ภาณุวัฒน์ สาริวาท เจ้าหน้าที่ดูแลและติดตามพฤติกรรมช้าง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง เล่าให้ฟังแบบติดตลกว่า เมื่อก่อนเรียกชื่อ “ทับเสลา” ลูกช้างจะร้องแปร๋นๆ ส่งเสียงตอบ แต่ตอนนี้เรียกไปเถอะ นอกจากจะไม่ตอบแล้ว ก็ยังเมินไม่ยอมเดินมาหา

ในสายตาของอดีตพี่เลี้ยงลูกช้างพลัดหลง เห็นว่า เป็นสัญญาณดีที่ทับเสลาไม่สนใจพี่เลี้ยง แม้บางครั้งจะเจอกันโดยบังเอิญ แต่ทับเสลาก็เดินห่างๆ ไม่ยอมเข้าใกล้และไม่ให้จับตัว ต่างจากช่วงแรกที่ยังเดินเข้ามาหา สะท้อนให้เห็นว่าทับเสลากลับคืนสู่สัญชาตญาณป่าแล้ว

ภาณุวัฒน์ ติดตามดูพฤติกรรมของทับเสลาหลังปล่อยเข้าสู่ป่าธรรมชาติ (ภาพจาก ภาณุวัฒน์ สาริวาท)

ภาณุวัฒน์ ติดตามดูพฤติกรรมของทับเสลาหลังปล่อยเข้าสู่ป่าธรรมชาติ (ภาพจาก ภาณุวัฒน์ สาริวาท)

ภาณุวัฒน์ ติดตามดูพฤติกรรมของทับเสลาหลังปล่อยเข้าสู่ป่าธรรมชาติ (ภาพจาก ภาณุวัฒน์ สาริวาท)

ส่วนพัฒนาการการใช้ชีวิตในป่าตลอด 1 ปี ภาณุวัฒน์ บอกว่า จากการประเมินด้วยสายตาพบว่าทับเสลามีพัฒนาการดี หากินได้เองและค่อนข้างติดแม่ แม้ในช่วง 1-3 เดือนแรกที่ปล่อยไปลูกช้างจะมีร่างกายซูบผอม เพราะต้องปรับตัวกับการกินตามธรรมชาติ และเดินตามแม่เป็นระยะทางไกลราว 10-20 กิโลเมตรต่อวัน แต่หลังจากนั้นทับเสลาก็มีสุขภาพแข็งแรงและร่างกายค่อนข้างสมบูรณ์

เมื่อก่อนให้คะแนนทับเสลาใช้ชีวิตในป่า 6 เต็ม 10 ตอนนี้ให้ 10 เต็ม

ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทับเสลาปรับเปลี่ยนกลุ่มประมาณ 3-4 ครั้ง มีช้างตัวอื่นเข้ามาอยู่ในกลุ่ม ตอนนี้นอกจากพังทับเสลา แม่วาเลนไทน์และแม่ดอกรักแล้ว ยังมีแม่สุพรรษา กับพลายบรรหารที่อายุไล่เลี่ยกับทับเสลา มาอยู่รวมกลุ่มได้เกือบ 2 เดือนแล้ว นิสัยเข้ากันได้ดี เพราะเคยเจอกันในช่วงปรับพฤติกรรมก่อนเข้าป่า

พังสุพรรษากับพลายบรรหาร เข้ามารวมกับกลุ่มของทับเสลา (ภาพจาก ภาณุวัฒน์ สาริวาท / มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ)

พังสุพรรษากับพลายบรรหาร เข้ามารวมกับกลุ่มของทับเสลา (ภาพจาก ภาณุวัฒน์ สาริวาท / มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ)

พังสุพรรษากับพลายบรรหาร เข้ามารวมกับกลุ่มของทับเสลา (ภาพจาก ภาณุวัฒน์ สาริวาท / มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ)

ในเวลานี้ การทำงานของ “ภาณุวัฒน์” ที่เกี่ยวกับทับเสลา จึงเหลือเพียงการติดตามดูพฤติกรรมของช้างว่าจะรวมกลุ่มกันได้หรือไม่ สังเกตพฤติกรรมการกิน การใช้พื้นที่ ซึ่งโดยรวมถือว่าทับเสลาทำได้ดีมาก

อ่านข่าว : ความทรงจำ "คน" เคยผูกพัน ในวันปล่อยลูกช้าง "ทับเสลา" คืนป่า

เปิดใจพ่อถึง “ทับเสลา” ลูกสาวคนโปรด

“ภาณุวัฒน์” ในฐานะอดีตพี่เลี้ยงของทับเสลา มีหน้าที่ดูแลช้างน้อยไม่ต่างจากพ่อที่เฝ้าคอยเลี้ยงลูกรักอยู่ไม่ห่าง แอบกระซิบว่า หลังจากปล่อยทับเสลาคืนสู่ป่า ต้องจุดธูปฝากลูกช้างตัวนี้กับเจ้าป่าเจ้าเขาเพื่อให้ช่วยดูแล จนหมดธูปไปหลายก้าน ขอให้คุ้มครองทับเสลาเข้าป่าได้อย่างสมบูรณ์ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีสุขภาพแข็งแรงอยู่ในป่าและไม่ต้องกลับออกมาอีก

ลูกช้างได้เข้าป่าเป็นความหวังสูงสุด มั่นใจว่าตอนนี้ทับเสลาเป็นช้างป่าอย่างสมบูรณ์ ส่วนผมก็ทำเต็มที่แล้วเหมือนกัน ภูมิใจมากที่มีส่วนร่วมปล่อยช้างตัวนี้คืนสู่ธรรมชาติได้สำเร็จ
ช้างแม่รับกับทับเสลา เมื่อปี 2566 (ภาพจาก ภาณุวัฒน์ สาริวาท / มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ)

ช้างแม่รับกับทับเสลา เมื่อปี 2566 (ภาพจาก ภาณุวัฒน์ สาริวาท / มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ)

ช้างแม่รับกับทับเสลา เมื่อปี 2566 (ภาพจาก ภาณุวัฒน์ สาริวาท / มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ)

ด้าน ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผอ.ศูนย์ควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART PATROL) ทำหน้าที่ ผอ.ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยืนยันผลการติดตามลูกช้างป่าทับเสลา ว่า หลังจากปล่อยคืนสู่ป่าไปแล้วมีสัญญาณค่อนข้างดี เพราะทับเสลาเป็นช้างแข็งแรง และมีความผูกพันกับแม่รับ แม้ว่าแม่จะเดินทางค่อนข้างไกล แต่ไม่ทิ้งลูก จึงไม่น่าเป็นห่วงเรื่องการเรียนรู้ตามธรรมชาติที่ยังมีแม่คอยสอน

ขณะที่ภาพรวมการใช้พื้นที่ ทับเสลาเก่งฉกาจขึ้น ใช้พื้นที่ได้ค่อนข้างกว้าง แม้ว่ายังเกาะติดลำน้ำสายหลักของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง โดยพบว่าช้างขยับไปไกลขึ้นจากพื้นที่จุดปล่อยเดิม สัญญาณนี้ไม่ได้บ่งบอกเฉพาะว่าช้างเข้าใจสภาพภูมิประเทศดีขึ้น ความแข็งแรงมากขึ้น แต่ยังสามารถเลือกใช้พื้นที่ได้หลายประเภทและใช้อาหารได้หลากหลายเช่นกัน

สัญญาณนี้เป็นพัฒนาการที่ดีของการกลับไปเป็นช้างป่า หรือเป็นสัตว์ป่าอย่างแท้จริง
ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์

ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์

ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์

ส่วนการใช้ชีวิตหรือการเจริญเติบโตในป่าธรรมชาติ ก็ถือว่าไปได้ไกลและเป็นไปได้ด้วยดี โดยยังมีเจ้าหน้าที่ติดตามดูพฤติกรรม การปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิประเทศแบบใหม่และตรวจสุขภาพเป็นระยะ

ดร.ศุภกิจ ย้ำว่า การปล่อยพังทับเสลากลับเข้าป่า เป็นเคสแรกๆ ในประเทศไทยที่นำลูกช้างจากที่หนึ่งไปปล่อยอีกที่หนึ่ง ดังนั้นอาจต้องติดตามไปจนลูกช้างเติบโต หรือจนกว่าจะออกไปมีครอบครัวใหม่

(ภาพจาก ภาณุวัฒน์ สาริวาท / มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ)

(ภาพจาก ภาณุวัฒน์ สาริวาท / มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ)

(ภาพจาก ภาณุวัฒน์ สาริวาท / มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ)

อีกทั้งในพื้นที่โครงการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง เป็นโครงการพระราชดำริที่มีการปล่อยช้างคืนสู่ธรรมชาติ ต้องตรวจติดตามช้างทุกตัวทั้งเรื่องการใช้พื้นที่และการตรวจสุขภาพ ฉะนั้นเมื่อลูกช้างโตขึ้นและหลุดจากโครงการฯ ไปแล้ว ก็อาจใช้วิธี 1 ปีติดตาม 1 ครั้ง เพื่อดูภาพรวมทั้งตัวทับเสลาและการปฏิสัมพันธ์กับช้างกลุ่มอื่นๆ

“ทับเสลา” ถือเป็นโมเดลสำคัญของกรมอุทยานฯ ในการเรียนรู้พฤติกรรมของลูกช้างป่า แม้จะพลัดหลงมาอยู่กับมนุษย์ได้เพียงไม่นาน แต่สุดท้ายแล้ว ความเป็นเจ้าแห่งป่าก็กลับคืนสู่ธรรมชาติตามสัญชาตญาณเดิม

(ภาพจาก ภาณุวัฒน์ สาริวาท / มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ)

(ภาพจาก ภาณุวัฒน์ สาริวาท / มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ)

(ภาพจาก ภาณุวัฒน์ สาริวาท / มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ)

อ่านข่าวอื่นๆ

"เต่ามะเฟือง" วางไข่หาดไม้ขาว จุดชมเครื่องบินขึ้น-ลง

จระเข้น้อย NEW GEN คืนถิ่น"บึงบอระเพ็ด" ในรอบ 7 ปี

ชมความน่ารัก "ลูกสมเสร็จ" สมาชิกใหม่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง