"คค."ตั้งเป้าลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เหลือ 12 คนต่อประชากร 1 แสนคน

เศรษฐกิจ
13 มี.ค. 67
18:18
295
Logo Thai PBS
"คค."ตั้งเป้าลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เหลือ 12 คนต่อประชากร 1 แสนคน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ก.คมนาคม ร่วมกับศูนย์วิจัยอุบัติเหตุนำสถิติมาวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อออกมาตรการวางแผนป้องกัน โดยพบว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าว่าต้องการลดการเสียชีวิตให้เหลือ 12 คนต่อประชากร 1 แสนคน ภายในปี 2570

วันนี้ (13 มี.ค.2567) ภายหลังการประชุมด้านความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 1 "THE 1st THAILAND ROAD TRAFFIC SAFETY FORUM" ซึ่งจัดขึ้นโดย ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย Thailand Accident Research Center หรือ TARC ภายใต้หัวข้อ "การวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน เพื่อใช้ในการดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้อง"

นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาสำคัญอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย และได้สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากผู้ที่ประสบอุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นประชากรกลุ่มวัยทำงาน มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40 รายต่อวัน และมีอีกหลายรายที่ได้รับบาดเจ็บถึงขั้นทุพพลภาพจากอุบัติเหตุทางถนน

ทางศูนย์วิจัยฯ จึงนำข้อมูลการสอบสวนอุบัติเหตุมาป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งที่ผ่านมาสถิติการเกิดอุบัติเหตุ มีการเสียชีวิตเฉลี่ย 26 คนต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งกระทรวงคมนาคมตั้งเป้าว่าต้องการลดการเสียชีวิตให้เหลือ 12 คนต่อประชากร 1 แสนคน ภายในปี 2570

นอกจากนี้ จะให้ไปดูแลเรื่องจุดเสี่ยงจุดอันตราย โดยจะเร่งดำเนินการแก้ไข ส่วนเรื่องรถที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ หลังจากนี้กรมการขนส่งทางบกจะมีการตรวจสอบสภาพรถโดยมีการจัดจุดเช็กพอยต์สำหรับรถสาธารณะเพิ่มขึ้น

ขณะที่การปรับแก้กฎหมาย ในอนาคตมีแนวคิดจะบังคับใช้กฎหมายมาตรการลดความลดอุบัติเหตุ เน้นไปที่การตรวจสอบรถยนต์โดยนำมาตรฐานจากต่างประเทศ เช่น UN มาใช้ในการตรวจคุณภาพของหมวกนิรภัย ล้อรถยนต์ และอุปกรณ์อื่น ๆ รวมถึงติดตั้งป้ายจำกัดเรื่องการใช้ความเร็ว เพื่อสร้างการรับรู้ให้ผู้ขับขี่

ด้าน ศ.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย (TARC) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กล่าวว่า เวทีนี้เป็นการนำเรื่องทางวิชาการมารวมกับนโยบายโดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลที่เกิดขึ้นจากสถิติอุบัติเหตุ เพื่อนำมากำหนดมาตรการเพราะที่ผ่านมาการออกมาตรการต่าง ๆ ไม่ได้ดูจากฐานข้อมูลเมื่อเกิดอุบัติเหตุ อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด

จากสถิติพบว่า การเกิดอุบัติเหตุหลังโควิด-19 มีแนวโน้มลดลงแต่ไม่มาก และเรื่องความเร็วยังเป็นเรื่องที่จัดการได้ยาก โดยรถจักรยานยนต์ เกิดอุบัติเหตุมากขึ้นและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น สาเหตุอุบัติเหตุเกิดจากพฤติกรรมการขับขี่ มีการใช้ความเร็วสูง ไม่สวมหมวกนิรภัย และเมาแล้วขับ จากสถิติยังพบว่า การเกิดเหตุในช่วงกลางวัน ร้อยละ 10 ช่วงกลางคืนร้อยละ 30 และส่วนใหญ่เป็นเยาวชน

ส่วนกายภาพถนน ยอมรับว่า มีส่วนที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุเพราะสามารถใช้ความเร็วได้ ซึ่งส่วนใหญ่อุบัติเหตุเกิดในถนนสายรอง ซึ่งเป็นถนนผ่านชุมชน

นอกจากนี้ สาเหตุยังเกิดจากผู้ขับขี่มีความผิดพลาดในการคาดการณ์อุบัติเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการตัดสินใจ การควบคุมรถ การเบรก ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ข้อมูลกว่า 1,400 กรณี ได้เสนอกรมการขนส่งทางบกในการเปลี่ยนแปลงการอบรมใบขับขี่ และการปรับข้อสอบใบขับขี่ให้เน้นการเพิ่มทักษะการคาดการณ์ด้านความเสี่ยง ส่วนการสอบปฎิบัติขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

อ่านข่าวอื่น ๆ

4 จังหวัดปิดผับตี 4 ทำยอดเสียชีวิตเมาแล้วขับเพิ่ม 100 คน/ปี 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง