นักวิทย์จับตา "หวัดนก H5N1" ระบาดอเมริกาใต้-แอนตาร์กติกา

ต่างประเทศ
15 มี.ค. 67
07:03
299
Logo Thai PBS
นักวิทย์จับตา "หวัดนก H5N1" ระบาดอเมริกาใต้-แอนตาร์กติกา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ประเทศในแถบอเมริกาใต้กังวลไวรัส H5N1 หลังมีรายงานพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตายจากไข้หวัดนกจำนวนมาก เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์เตือนถึงความเสี่ยงต่อฝูงเพนกวิน-นกกาน้ำในทวีปแอนตาร์กติกาที่อาจสูญพันธุ์ยกฝูง

เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2567 นักวิทยาศาสตร์เตือนเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งพบเป็นครั้งแรกเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ในเพนกวินและวงศ์นกกาน้ำ ซึ่งความคืบหน้าดังกล่าวสร้างความกังวล เนื่องจากทวีปแอนตาร์กติกาเป็นถิ่นอาศัยของเพนกวินหลายสายพันธุ์ ซึ่งอาจเสี่ยงทำให้เกิดการสูญพันธุ์ยกฝูง

การประกาศคำเตือนเกี่ยวกับเชื้อไข้หวัดนกในทวีปแอนตาร์กติกา เกิดขึ้นหลังจากมีคำเตือนจากนักวิทยาศาสตร์ในอเมริกาใต้เกี่ยวกับไวรัสตัวเดียวกัน หลังจากพบว่าไวรัส H5N1 มีรายงานการแพร่ระบาดเพิ่มสูงขึ้นในแถบอเมริกาใต้ โดยนักวิทยาศาสตร์เตือนว่า การระบาดที่เพิ่มขึ้นเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ของไวรัสที่อาจนำมาสู่การแพร่ระบาดสู่มนุษย์

ในชิลีและเปรู พบว่าไวรัสนี้คร่าชีวิตโลมา แมวน้ำและสิงโตทะเลจำนวนมาก โดยเฉพาะแมวน้ำที่ตายไปกว่า 50,000 ตัวแถบริมชายฝั่งอเมริกาใต้ และทั่วทั้งทวีปยังมีรายงานนกตายอีกกว่า 500,000 ตัว

นักวิทยาศาสตร์ในอเมริกาใต้ยังไม่ได้ยืนยันการแพร่เชื้อระหว่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เพราะจะต้องเก็บตัวอย่างมาทดสอบในสัตว์ที่ยังมีชีวิต แต่ตั้งข้อสังเกตว่าค่อนข้างเป็นไปได้สูงที่การแพร่ระบาดในหมู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะเกิดขึ้นแล้ว เมื่อดูจากการตายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวนมาก จากเดิมที่พบเชื้อในนกหลายสายพันธุ์ รวมถึงนกอพยพที่อาจนำเชื้อไปยังทวีปอื่นๆ ได้

นับตั้งแต่ตรวจพบไวรัสดังกล่าวในโคลอมเบีย เมื่อปี 2022 มีรายงานการพบเชื้อในมนุษย์ 2 กรณีในทวีปอเมริกาใต้ โดยพบที่เอกวาดอร์และชิลี เป็นการรับเชื้อจากการสัมผัสนกที่ติดเชื้อ ซึ่งผู้ป่วยทั้ง 2 คนไม่ได้เสียชีวิต แต่เชื้อ H5N1 ที่พบในมนุษย์ที่ผ่านมามีอัตราการเสียชีวิตราวร้อยละ 60

กระแสกังวลดังกล่าวทำให้องค์การอนามัยทวีปอเมริกา จัดการประชุมในสัปดาห์นี้ที่นครริโอ เด จาเนโร ประเทศบราซิล ขณะที่อเมริกาใต้ยังประสบปัญหาเกี่ยวกับการจัดการฐานข้อมูลเพื่อรับมือโรคระบาด โดยเฉพาะในป่าและพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งอาจทำให้ตัวเลขการติดเชื้อจริงสูงกว่าที่ได้รับรายงาน และหลายกรณีไม่ผ่านการตรวจสอบยืนยันจากห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์

อ่านข่าวอื่นๆ

"ผู้ดูแลกาแห่งหอคอยลอนดอน" ผู้พิทักษ์แผ่นดินและราชวงศ์อังกฤษ

สภาฯ บังคับ TikTok ขายหุ้นใน 6 เดือนแลกถูกสั่งแบนทั่วสหรัฐฯ

อินเดียทำสำเร็จ! ทดสอบขีปนาวุธหลายหัวรบ ผลักโลกสู่ยุคสงครามนิวเคลียร์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง