สำเร็จไปอีกขั้น! Starship บินทดสอบสำเร็จ หวังส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์อีกครั้ง

ต่างประเทศ
15 มี.ค. 67
07:46
2,040
Logo Thai PBS
สำเร็จไปอีกขั้น! Starship บินทดสอบสำเร็จ หวังส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์อีกครั้ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ความคืบหน้าวงการสำรวจอวกาศหลังบริษัทสเปซเอกซ์ของมหาเศรษฐี "อีลอน มัสก์" ทดสอบจรวดไร้คนขับอีกครั้ง หลังจากปีที่แล้วทดสอบไป 2 ครั้ง ซึ่งครั้งนี้ทางบริษัทระบุว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

แม้ว่ายานจะขาดการติดต่อแต่นับว่าเป็นความก้าวหน้าเรื่องระยะการเดินทางและการแยกชิ้นส่วนจรวด ซึ่งยาน Starship ลำนี้เป็นความหวังการสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารของมนุษยชาติในอนาคตอันใกล้

ยาน Starship ของบริษัท SpaceX ทะยานขึ้นจากฐานปล่อย Starbase ใน BOCA CHICA รัฐ TEXAS ใกล้อ่าวเม็กซิโก ในการทดสอบปล่อยยานครั้งที่ 3 ซึ่งปรากฏว่ายานเคลื่อนที่ไปได้ไกลกว่า 2 ครั้งแรก เมื่อปีที่แล้ว โดยยานไร้คนขับที่สูงกว่าเทพีเสรีภาพ หรือกว่า 120 เมตร ลำนี้สามารถแยกชิ้นส่วนยานออกจากเครื่องยนต์จรวดขับดันได้สำเร็จประมาณ 2 นาที 44 วินาที หลังปล่อยตัว ที่ความสูงจากพื้นโลกราว 72 กิโลเมตร และทะยานต่อไปข้ามแอตแลนติกและแอฟริกาใต้

ภายหลัง SpaceX เปิดเผยว่า ยานถูกทำลายระหว่างการเดินทางกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก หลังทำการบินทดสอบเกือบสมบูรณ์ เป็นเวลาเกือบ 1 ชั่วโมง นักวิทยาศาสตร์ที่ดูแลโครงการระบุว่า ยานทนความร้อนได้กว่า 1,400 องศาเซลเซียส ก่อนที่ส่วนประกอบจะเสียหาย เดิมที SpaceX ตั้งเป้าให้ยานลำนี้กลับสู่พื้นโลกโดยตกลงที่มหาสมุทรอินเดีย

แม้ว่ายานจะสูญหายแต่ทางบริษัท นับว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหม่ในการพัฒนายานที่มีเป้าหมายสูงสุดคือการนำมนุษย์เดินทางไปดาวอังคาร ซึ่งนอกจากนี้ NASA ยังเลือกใช้ยาน Starship เป็นยานลงจอดบนดวงจันทร์สำหรับภารกิจ Artemis III ที่จะพามนุษย์กลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้งซึ่งมีกำหนดจะออกเดินทางในเดือนกันยายน 2569 โดย บิล เนลสัน ผู้ดูแลระบบ NASA ทวีตผ่าน X ว่า

ขอแสดงความยินดีกับ SpaceX ที่ประสบความสำเร็จในการบินทดสอบ เรากำลังก้าวไปด้วยกันผ่านโครงการ Artemis III เพื่อคืนมนุษยชาติสู่ดวงจันทร์ จากนั้นมองไปข้างหน้าไปยังดาวอังคาร

ส่วนทาง อีลอน มัสก์ CEO ของ SpaceX กล่าวว่าเป้าหมายหลักของการบินทดสอบในช่วงแรกๆ เหล่านี้ คือ การทำให้ Starship มีความเร็วในวงโคจร ซึ่งเป็นความเร็วที่เร็วพอที่จะทำให้ยานอวกาศเข้าสู่วงโคจรรอบโลกได้อย่างมั่นคง และการทดสอบครั้งนี้บรรลุเป้าหมายความเร็ววงโคจรแล้ว และไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเข้าสู่วงโคจรในเที่ยวบินนี้จริงๆ 

อ่านข่าวอื่น :

ควักลูกตาเสือโคร่ง "บะลาโกล" หมอยืนยันความเป็นนักล่ายังเต็มเปี่ยม

นักวิทย์จับตา "หวัดนก H5N1" ระบาดอเมริกาใต้-แอนตาร์กติกา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง