ศาลไฟเขียวดำเนินคดีแบบกลุ่ม "class action" ในคดีทุจริตหุ้นกู้สตาร์คฯ

เศรษฐกิจ
21 มี.ค. 67
17:17
189
Logo Thai PBS
ศาลไฟเขียวดำเนินคดีแบบกลุ่ม "class action" ในคดีทุจริตหุ้นกู้สตาร์คฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม "class action" ในคดีทุจริตหุ้นกู้ สตาร์คฯ มูลค่า 9,000 ล้านบาท ที่ผู้เสียหายยื่นฟ้องเอาผิดผู้บริหาร 5 คน

วันนี้ (21 มี.ค.2567) ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ผู้พิพากษา นัดฟังคำสั่ง คดีคำเลขที่ พ.1527/2566 ที่นายคณิต อภิวัฒนานนท์ เป็นโจทก์คนที่ 1 พร้อมพวก รวม 3 คน ฟ้องนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เป็นจำเลยที่ 1 พร้อมพวกรวม 5 คน ได้แก่ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ, นายชินวัฒน์ อัศวโภคี, นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ, นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม เพื่อพิจารณาออกคำสั่งให้คดีเรียกค่าเสียหายจาก กรณี บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชัน ตบแต่งบัญชี และเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ กระทบผู้ถือหุ้นกู้สำคัญผิดต่อฐานะการเงินบริษัท มูลค่าความเสียหายกว่า 9,200 ล้านบาท เป็นคดีแบบกลุ่มหรือไม่

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มอ่านคำสั่ง นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ผู้รับมอบอำนาจจากกลุ่มผู้เสียหายอีกกลุ่ม ยื่นคำร้องสอดต่อศาล เพื่อขอรวมคำร้องของกลุ่มของตนเอง

ผู้พิพากษา จึงสั่งพักศาล เพื่อพิจารณาคำร้องประมาณ 30 นาที ก่อนวินิจฉัยว่า การยื่นคำร้องดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีจึงยกคำร้องดังกล่าว ก่อนอนุญาตให้คดีทางแพ่ง จากการดำเนินการของบริษัท สตาร์คฯ เป็นคดีแบบกลุ่ม หรือ class action ส่งผลให้ ผู้ถือหุ้นกู้บริษัทสตาร์กฯ ทุกรุ่น ทุกคน ได้รับความคุ้มครองสิทธิ์เรียกค่าเสียหาย

ขณะที่ บรรยากาศหลังศาลอ่านคำสั่งจบ ผู้เสียหายต่างแสดงปรับมือแสดงความยินดี บ้างก็สวมกอดและร้องไห้ด้วยความดีใจต่อคำสั่งดังกล่าว แต่เมื่อนายวีรพัฒน์ เดินทางออกจากห้องพิจารณาคดี ก็ถูกผู้เสียหายบางส่วน โห่ร้องขับไล่ด้วยความไม่พอใจ เพราะเห็นว่า นายวีรพัฒน์ เคยยื่นคำร้องสอดมาแล้วครั้งหนึ่ง ส่งผลให้ศาลต้องเลื่อนการอ่านคำสั่ง เมื่อปลายปี 2566 แล้ว และยื่นคำร้องอีกครั้งเมื่อวานนี้ (20 มี.ค.) ช่วงเย็นก่อนวันนัดอ่านคำสั่ง

ขณะที่ นายจิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค ในฐานะทนายโจทก์ กล่าวว่า การเลือกฟ้องผู้บริหารบริษัท สตาร์กฯ 5 คน แทนการฟ้องในรูปบริษัทนิติบุคคล เพื่อให้การดำเนินคดีฟ้องค่าเสียหายกระชับมากขึ้น เพราะหากดำเนินคดีต่อนิติบุคคล อาจทำให้นิติบุคคล ยื่นขอแผนเข้าฟื้นฟูกิจการฯ และเข้าสู่ภาวะระงับการจ่ายหนี้ หรือ automatic stay ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการดำเนินคดีนาน 3 - 15 ปี

ส่วนขั้นตอนทางกฎหมายหลังจากศาลรับเป็นคดีฟ้องกลุ่มแล้ว จำเลยสามารถยื่นคำร้องอุทธรณ์ภายในเวลา 7 วัน จากนั้น ศาลจะวินิจฉัยคำร้อง ก่อนเริ่มกระบวนการาสืบพยาน และวินิจฉัยคดีตามลำดับ แต่หาก นายวนรัชต์ รักษาคำพูดที่เคยแถลงต่อศาลว่าจะไม่ต่อสู้คดี อาจช่วยให้คดีเสร็จสิ้นภายในปีนี้

พร้อมระบุว่า กรณีบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัท สตาร์คฯ และอยู่ระหว่างเข้าแผนฟื้นฟูกิจการฯ ไม่กระทบต่อผู้เสียหายคดีสตาร์คฯ เนื่องจาก การตบแต่งบัญชีและเผยแพร่ฐานะการเงินของบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จฯ อันเป็นเท็จทำให้ผู้ลงทุนสำคัญผิด พร้อมกับเชิญชวนผู้ถือหุ้นกู้ ยื่นคำร้องขอชำระหนี้ จากบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จฯ ตามสิทธิ์ ภายในวันที่ 11 เม.ย.นี้

อ่านข่าวอื่น ๆ

“ดาบเดียว” ฟันฉับ 2 บิ๊กตร. การันตีนายกฯ ของจริง

เกณฑ์ทหาร 2567 เช็กวัน รายละเอียด ขั้นตอนการตรวจเลือกทหาร

เปิดชีวิตบนปากจระเข้ "สุเมธ ทองคำม้วน" 30 ปี กับบาดแผล 500 เข็ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง