ISIS-K เป็นใคร ทำไมต้องโจมตี Crocus City Hall

ต่างประเทศ
23 มี.ค. 67
15:54
2,876
Logo Thai PBS
ISIS-K เป็นใคร ทำไมต้องโจมตี Crocus City Hall
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เหตุโจมตีประชาชาชนในโรงละคร Crocus City Hall กรุงมอสโก ของรัสเซีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างต่ำ 62 คน บาดเจ็บนับร้อย โดยมือปืนสวมหน้ากากและชุกลายพราง 5 คนเป็นผู้ก่อเหตุ ต่อมากลุ่ม ISIS-K ออกมาอ้างความรับผิดชอบแม้รัสเซียปฏิเสธข่าวดังกล่าวก็ตาม

เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2567 เวลาประมาณ 20:00 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย หรือเวลาประมาณ 24.00 น. ของประเทศไทย (เวลารัสเซียช้ากว่าเวลาไทย 4 ชั่วโมง) เกิดเหตุกราดยิงและการระเบิดหลายครั้ง ณ โรงละคร Crocus City Hall ในเมืองครัสโนกอร์สค์ที่อยู่ทางตะวันตกของกรุงมอสโก มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 62 คนและบาดเจ็บอย่างน้อย 145 คน หลังจากมือปืนสวมหน้ากากและลายพราง 5 คน เปิดฉากยิงใส่ผู้คนที่มารวมตัวกันที่สถานที่จัดงาน

กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการโจมตีของผู้ก่อการร้าย แต่ไม่ยอมรับว่าผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่ม ISIS-K หรือ กลุ่มรัฐอิสลามของแคว้นโคราซาน ซึ่งเป็นเครือข่ายของกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย (ISIS) ในภูมิภาคเอเชียกลาง แม้จะมีคำแถลงการณ์อ้างความรับผิดชอบในการโจมตีครั้งนี้จากกลุ่มดังกล่าวก็ตาม 

อ่าน : "ถอดรหัส" กราดยิงมอสโก ความเปราะบางทางศาสนา

รู้จักโรงละคร Crocus City Hall 

Crocus City Hall สร้างขึ้นในปี 2552 เพื่อเป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตที่จุคนได้ 6,200 คน เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การค้าร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่เรียกว่า Crocus City 

เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2567 ที่ผ่านมา สำนักงานความมั่นคงกลางแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (FSB) ได้ออกมาประกาศเตือนว่า กลุ่มก่อการร้ายในมอสโก มีเป้าหมายโจมตีสถานที่แห่งหนึ่งในเมือง และตามมาด้วยคำเตือนจากหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ที่ สถานทูตสหรัฐฯ ในมอสโก ออกมาระบุว่า มีกลุ่มหัวรุนแรงที่มีแผนโจมตี โดยมีการกำหนดเป้าหมายคือการชุมนุมขนาดใหญ่ในมอสโก และรวมคอนเสิร์ตด้วย โดยที่สหรัฐฯ ยังได้เตือนเจ้าหน้าที่รัสเซียเป็นการส่วนตัวถึงอันตรายจากการโจมตีที่กำลังจะเกิดขึ้น IS-KP หรือ ISIS-K (กลุ่มเดียวกัน) 

ต่อมาวันที่ 19 มี.ค.2567 วลาดิมีร์ ปูติน ปธน.รัสเซีย กล่าวว่า คำเตือนของสหรัฐฯ นั้นไม่เป็นความจริง และได้สั่งให้ FSB ดำเนินการต่อต้านการก่อการร้ายในทุกพื้นที่อยู่แล้ว 

โรงละคร Crocus City Hall

โรงละคร Crocus City Hall

โรงละคร Crocus City Hall

โจมตี Crocus City Hall เชื่อมอดีต ISIS-รัสเซีย

การโจมตีของกลุ่ม ISIS-K ในวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นการโจมตีในวันครบรอบ 8 ปีเหตุระเบิดบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2559 ที่ในครั้งนั้น ISIS อ้างความรับผิดชอบในการก่อการร้ายพร้อมกัน 3 ครั้ง ในพื้นที่สนามบินบรัสเซลส์ (2 ครั้ง) และในสถานีรถไฟใต้ดิน (1 ครั้ง) มีผู้เสียชีวิต 31 คน ผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 300 คน มือระเบิดฆ่าตัวตาย 3 คน เหตุระเบิดครั้งนี้เป็นการก่อการร้ายครั้งที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์เบลเยียม รัฐบาลเบลเยียมประกาศไว้ทุกข์ทั่วประเทศ 3 วัน

เหตุการณ์นี้นับเป็นเหตุก่อการร้ายที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นใน "มอสโก" วิกฤตตัวประกันโรงละครมอสโกในปี 2545 โดยผู้ก่อการร้าย กองกำลังพลีชีพของ นายพล ริยาด-อุส ซาลิฮีน และชาวเชเชน เมื่อวันที่ 23 ต.ค.2545 มีการจับตัวประกันทั้งหมด 850 คน มีการเรียกร้องให้ถอนกองกำลังรัสเซียออกจากเชชเนียและยุติสงครามเชเชนครั้งที่ 2 วิกฤติดังกล่าวคลี่คลายลง เมื่อ ปธน.ปูติน สั่งหน่วยรักษาความปลอดภัยของรัสเซียปล่อยแก๊สเข้าไปในอาคาร และต่อมาได้บุกโจมตี คร่าชีวิตผู้จับตัวประกันทั้งหมด 40 คน และมีตัวประกันเสียชีวิต 132 คน ที่ส่วนใหญ่เกิดจากผลกระทบของแก๊ส

การแสดงความเสียใจต่อเหตุก่อการร้าย

การแสดงความเสียใจต่อเหตุก่อการร้าย

การแสดงความเสียใจต่อเหตุก่อการร้าย

สุดท้าย เหตุการณ์นี้ ยังนับเป็นการโจมตีของผู้ก่อการร้ายที่เลวร้ายที่สุดใน "รัสเซีย" นับตั้งแต่การปิดล้อมโรงเรียน Beslan เมื่อ 20 ปีก่อนหน้านี้ "วิกฤตตัวประกันในโรงเรียนเบสลันหรือการสังหารหมู่ที่เบสลัน" เป็นการโจมตีของผู้ก่อการร้าย กองกำลังพลีชีพของ นายพล ริยาด-อุส ซาลิฮีน (กลุ่มเดียวกับที่จับตัวประกันฝนวิกฤตตัวประกันโรงละครมอสโก ปี 2545) ที่เริ่มเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2547 กินเวลานาน 3 วัน มีการจับตัวประกันมากกว่า 1,100 คน (เป็นเด็ก 777 คน) จบลงด้วยการเสียชีวิต 334 คน เป็นเด็ก 186 คนและผู้ก่อการร้าย 31 คน ถือเป็นเหตุกราดยิงในโรงเรียน ที่อันตรายที่สุด ในประวัติศาสตร์ของรัสเซีย

อ่าน : ทั่วโลกประณามการโจมตี Crocus City Hall ของกลุ่มก่อการร้าย

ISIS-K เป็นใคร IS ยังอยู่ไหม แล้ว ISIS มายังไง 

ในอดีตมีกลุ่มก่อการร้าย 2 กลุ่มคือ "กลุ่มอัลกออิดะห์" และ "กลุ่มตาลีบัน"

  • โดยที่ "อัลกออิดะห์" หรือที่บางคนอาจเรียก อัลไคดา ก่อตั้งโดย โอซามา บิน ลาเดน มหาเศรษฐีชาวซาอุดีอาระเบีย ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980

  • ส่วน "ตาลีบัน" ก่อตั้งในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ทางตอนเหนือของปากีสถานหลังจากสหภาพโซเวียตถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน กลุ่มตาลีบันมีแนวคิดฟื้นฟูสันติภาพและความมั่นคง ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์ของอิสลามที่เคร่งครัด ในปี 2539 กลุ่มตาลีบันสามารถยึดกรุงคาบูลได้สำเร็จ ในปี 2541 ควบคุมพื้นที่เกือบร้อยละ 90 ของอัฟกานิสถาน ต่อมา ตาลีบัน ก็ได้อ้าแขนรับกลุ่มอัลกออิดะห์ "บางกลุ่ม" ให้เข้ามาอยู่ในอัฟกานิสถานเพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางด้านการเงิน

ส่วนกลุ่มอัลกออิดะห์ที่เหลือในอิรักกลับมีแนวคิดที่ต่างไปจากหลักการดั้งเดิม จึงรวมตัวกับกลุ่มสุดโต่งอื่น แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น กลุ่มรัฐอิสลาม หรือ กลุ่มไอเอส (The Islamic State group ; IS) ที่แข็งแกร่งและมีบทบาทในระดับโลกมากขึ้น

และในปี 2554 กลุ่ม IS ได้รุกคืบเข้าไปในซีเรียที่กำลังตกอยู่ในภาวะสงคราม ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "กลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและลิแวนต์" (Islamic State of Iraq and the Levant ; ISIL) พร้อมประกาศตั้งรัฐอิสลาม ที่เรียกว่า เคาะลีฟะฮ์ หรือ กาหลิบ (Caliphate) แล้วแยกตัวจากกลุ่มอัลกออิดะห์อย่างสิ้นเชิง

ทั้งนี้คำว่า Levant เป็นคำแปลของ "al-Sham" ที่อ้างอิงถึงภูมิภาคที่ทอดยาวตั้งแต่ตุรกีผ่านซีเรียไปจนถึงอียิปต์ และรวมถึงดินแดนปาเลสไตน์ จอร์แดน และเลบานอน แต่ในทางตะวันตกเรียกตามพื้นที่ที่ IS ขยายอิทธิพลเข้าไป จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า กลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย (Islamic State of Iraq and Seria ; ISIS)

ผู้คนต่างออกมาต่อต้านกลุ่ม ISIS

ผู้คนต่างออกมาต่อต้านกลุ่ม ISIS

ผู้คนต่างออกมาต่อต้านกลุ่ม ISIS

ดังนั้น ปัจจุบัน สื่อทั่วโลกมักไม่เรียกกลุ่มก่อการร้าย IS แต่เรียก ISIS (ไอซิส) หรือ ISIL (ไอซิล) แทน

ส่วน ISIS-K (อ่านว่าไอซิส-เค) มีชื่อเต็มว่ากลุ่มรัฐอิสลามของแคว้นโคราซาน (Islamic State Khorasan Province ; ISKP) กลุ่มติดอาวุธที่มีฐานปฏิบัติการอยู่ทั้งในอัฟกานิสถานและปากีสถาน เป็นส่วนหนึ่งในเครือข่าย ISIS เป็นกลุ่มนักรบที่มีความคิดสุดโต่งและรุนแรงมากที่สุดในบรรดากลุ่มนักรบจีฮัดในอัฟกานิสถาน ก่อตั้งในเดือน ม.ค.2558 มีเป้าหมายโจมตีชาวตะวันตก องค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องในเชิงมนุษยธรรม เมื่อใดก็ตามที่สามารถลงมือได้ 

สมาชิก ISIS-K มีความสัมพันธ์ในระดับหนึ่งกับกลุ่มตาลีบันผ่านเครือข่ายฮักกานี (กลุ่มติดอาวุธสาขาย่อยของตาลีบัน) แต่ ISIS-K มองว่าความคิดของตาลีบันยังสุดโต่งไม่มากพอ จึงเริ่มทำสงครามโจมตีกลุ่มตาลีบันกันเอง เกิดการปะทะกันบ่อยครั้ง 

นักวิเคราะห์ด้านต่อต้านก่อการร้ายของบริษัท Soufan Group กล่าวว่า ISIS-K ถือเป็น "ศัตรูตัวร้าย" ของตาลีบัน ISIS-K พยายามขยายพื้นที่ครองอำนาจในอัฟกานิสถาน และสร้างอิทธิพลแข่งกับตาลีบัน รวมถึงสร้างความอับอายให้แก่กลุ่มตาลีบัน แต่กลุ่มตาลีบันกลับมองว่าคงเป็นไปได้ยาก เพราะสมาชิก ISIS-K นั้นมีจำนวนน้อยกว่าสมาชิกตาลีบัน 

คำประกาศไว้อาลัยต่อเหตุก่อการร้าย

คำประกาศไว้อาลัยต่อเหตุก่อการร้าย

คำประกาศไว้อาลัยต่อเหตุก่อการร้าย

อ่าน : 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง