กระชับอำนาจเพื่อไทย "ทักษิณ" เดินเกมรบเปิดศึกสู้ "ก้าวไกล"

การเมือง
26 มี.ค. 67
09:53
732
Logo Thai PBS
กระชับอำนาจเพื่อไทย "ทักษิณ" เดินเกมรบเปิดศึกสู้ "ก้าวไกล"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

นายทักษิณ ชินวัตร มีกำหนดการเยี่ยมเยียนพรรคเพื่อไทย ในช่วงบ่ายวันนี้ (26 มี.ค.2567) เพื่อเปิดให้สมาชิกพรรคเพื่อไทย และ สส.ในสังกัดเข้าเยี่ยม การเปิดเกมของอดีตนายกรัฐมนตรีถูกหลายฝ่ายจับตา ตั้งแต่ปรากฎกายที่ร้านตัดผมชื่อดังย่านสีลม เสมือนต้องการให้แฟนคลับเพื่อไทยรับทราบว่า นับแต่นี้ต่อไป ก้าวย่างและจังหวะเปิดเกมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลดีลลับลังกาวี หรือ "บิ๊กดีล" อะไรก็ตามแต่ ที่แน่ ๆ คือ เพื่อไทยรอไม่ได้อีกแล้ว หากจะตั้งรับทางการเมือง โดยไม่รุกกลับ

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ว่า ปรากฏการณ์ที่นายทักษิณ ออกมาจากร้านตัดผม และมีประชาชนมาขอถ่ายรูปด้วย ในทางรัฐศาสตร์มองว่า เป็นการกระชับเกมอำนาจทางการเมือง ก่อนเดินเข้าสู่พรรคเพื่อไทยอย่างเป็นทางการในวันนี้ (26 มี.ค.2567)

หลายคนบอกว่า นายทักษิณไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับการประชุมกรรมการบริหารพรรค หรือการประชุมปกติ แต่เมื่อผู้นำทางจิตวิญญาณ หรือเจ้าของตัวจริงเดินเข้าพรรค ในฐานะผู้มาเยี่ยมเยียน ทำให้หลายฝ่ายจับตาถึงกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ภายในพรรค ที่จะขอเข้าพบนายทักษิณ เป็นเกมการกระชับอำนาจอย่างหนึ่ง

"ที่ทุกคนตั้งข้อสงสัยตั้งแต่นายทักษิณออกมาจากชั้น 14 รพ.ตำรวจ จนกลับบ้านจันทร์ส่องหล้า กระทั่งเห็นไทม์ไลน์การเดินทางไปเชียงใหม่ หลายคนสงสัยว่าทำไมสุขภาพดีตามลำดับ ขณะนี้ค่อนข้างเด่นชัดแล้วว่า นายทักษิณไม่เคยห่างหายและลดความปรารถนาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง"

ผศ.วันวิชิต กล่าวว่า การเข้ามาของนายทักษิณ และการกระชับอำนาจต่าง ๆ ลักษณะเหมือนเพื่อไทยจะกลับมาทวงพื้นที่ความนิยมทางการเมือง แต่ตนเองไม่มั่นใจว่า ฉากทัศน์ตรงนั้นจะดำรงเหลืออยู่ เพราะหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 ฉากทัศน์ทางการเมืองของไทย ถูกแลนด์สไลด์ทางความเชื่อของบุคคลไปมากแล้ว ซึ่งประชาชนต้องการเห็นการเมืองแบบใหม่ เน้นความถูกต้อง ความซื่อสัตย์ และตรงไปตรงมา

ผมไม่มั่นใจว่าเกมนี้ พรรคเพื่อไทยและนายทักษิณ ประเมินความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในปี 2567 ได้ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ยังวิเคราะห์ว่า การเข้ามาของนายทักษิณในครั้งนี้ อาจบดบังรัศมีการสะสมความนิยมของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยหรือไม่

กรณีที่นายทักษิณเดินหน้าเคลื่อนไหว โดยไม่สนใจคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คน หรือคนที่เห็นต่าง สร้างความเสียหายทางการเมืองไม่น้อยต่อคนที่ออกมาชี้แจงแก้ต่างถึงอาการป่วย หรือการได้รับพักโทษของนายทักษิณ

การเดินหน้าเข้าพรรค โดยให้คำแนะนำ ชี้แนะต่อสมาชิกพรรคเพื่อไทย หรือรัฐบาล ทำให้เห็นว่าเป็นการเปิดเกม กระชับคู่ต่อสู้เหลือแค่ 2 เป้า คือ เพื่อไทยกับก้าวไกล

ในมุมมองที่บอกว่า เพื่อไทยมาเล่นเกมนี้ เพื่อเป็นแกนนำรับใช้ฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าฝ่ายดังกล่าว เชื่อมั่นในสิ่งที่นายทักษิณและเพื่อไทยดำเนินการหรือไม่

อีกทั้งการเคลื่อนไหวของนายทักษิณได้วางไทม์ไลน์เป็นซีรีส์ เพื่อหวังผลทางการเมือง ยกตัวอย่างการเดินทางไปเชียงใหม่ของนายทักษิณ มีแกนนำพรรคออกมาประกาศว่าเตรียมเปิดตัวบุคคลที่จะลงนายก อบจ.ในปี 2568 วางไว้แล้ว 5 จังหวัดสำคัญ ถือเป็นการวางเดิมพันว่าหากการเลือกตั้งนายก อบจ.ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง หรือประสบเหตุแลนด์สไลด์เหมือนวันที่ 14 พ.ค. ทุกอย่างการต้องประเมินใหม่ทั้งหมด

ผศ.วันวิชิต วิเคราะห์ว่า ในทางการเมืองที่ยาวนาน นายทักษิณถูกเชื่อมโยงทุกอย่าง และกลายเป็นหมู่บ้านกระสุนตก กรณีที่นายทักษิณออกมาช่วย หรือแย่งชิงพื้นที่ อาจช่วยการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลได้สะดวก หรือลดคำวิพากษ์วิจารณ์ในบางประเด็นได้ เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท สว.ใช้พื้นที่อภิปราย ได้ไม่แรงเท่าที่ควร ประกอบกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ออกมาประกาศไทม์ไลน์ว่าได้ใช้ดิจิทัลวอลเล็ตในไตรมาส 4 แต่กลับพบว่าผู้ที่เห็นต่าง หรือผู้ที่ต้องการจะจับผิดพรรคเพื่อไทย ไปโฟกัสที่นายทักษิณเกือบทั้งหมด

ถ้ามองในทางที่เป็นบวกกับรัฐบาล การขับเคลื่อนนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป ก็อาจจะประสบความสำเร็จในการใช้ไทม์ไลน์ และเอาเรื่องของนายทักษิณ และการเคลื่อนไหว มาตีคู่ด้วยทางการเมือง

ส่วนกรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า นายทักษิณชี้นำพรรคนั้น แม้จะบอกว่าเป็นเพียงการเยี่ยมเยียน แต่ประชาชนและนักวิเคราะห์ มองเกมการเคลื่อนไหวของนายทักษิณแบบดักคอ-ดักทาง เรียกว่านำจิ๊กซอว์ไปวางตรงไหนแล้วภาพจะชัดไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่กลับไทย ป่วย เดินทางไปเชียงใหม่ กระทั่งเตรียมเข้าเยี่ยมพรรคเพื่อไทย

ผศ.วันวิชิต วิเคราะห์ว่า ผู้ใหญ่ในพรรคยังมีผลอย่างมากต่อการขับเคลื่อนทางการเมืองของคนรุ่นใหม่เพื่อไทย เมื่อเทียบการปรับโครงสร้าง เป็นคนละเรื่องกับพรรคภูมิใจไทย ที่หัวยังเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล แต่โครงสร้างเป็นคนรุ่นใหม่ ยกตัวอย่างนายไชยชนก ชิดชอบ มีความดื้อ หรือดีเอ็นเอที่ต่างจากนายเนวิน ชิดชอบ ผู้เป็นพ่อ ส่วนแพทองธาร ชินวัตร กับนายทักษิณ มีความเชื่อมโยงลักษณะแบบรับไม้ต่อ ซึ่งเป็นแรงกดดันว่าไม่อาจหลุดพ้นเงาของนายทักษิณ หรือแสดงความคิดเห็นเป็นตัวของตัวเองได้

ถ้าวันหนึ่ง แกนนำ หรือ กก.บห.คนรุ่นใหม่ของเพื่อไทย ดื้อจากขนบฯ พรรค และเป็นตัวของตัวเองออกมาบ้าง อย่างน้อยก็สร้างความหลากหลาย และทำให้เห็นว่าการถ่ายโอนอำนาจจากผู้อาวุโสไปสู่คนรุ่นใหม่ทำได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีการแทรกแซง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

26 มี.ค."ทักษิณ" กลับเพื่อไทย ปัดร่วมบริหารงาน นายเก่ามาเยือน 

“เศรษฐา” นำทีมบุกโคราช ดันฟื้นทุกมิติ “เศรษฐกิจ-แหล่งน้ำ-ท่องเที่ยว-คมนาคม” 

กกต.จับตา "ทักษิณ" เข้าเพื่อไทย - "เรืองไกร" ชี้หากแทรกแซงถึงขั้นยุบพรรค 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง