เศรษฐกิจโลกฟื้น พลิกส่งออกไทยเติบโตต่อเนื่อง 2 เดือน 6.7%

เศรษฐกิจ
26 มี.ค. 67
11:59
318
Logo Thai PBS
เศรษฐกิจโลกฟื้น พลิกส่งออกไทยเติบโตต่อเนื่อง 2 เดือน  6.7%
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ส่งออกไทยเติบโตต่อเนื่อง หลังเศรษฐกิจโลกทยอยฟื้นตัว กำลังซื้อกลับมา สินค้าเกษตรไทย ข้าว-ยางพารา ทำส่งออกไทย 2 เดือนพุ่ง 6.7% พาณิชย์เผยวิกฤตทะเลแดงกระทบน้อย ตลาดยุโรป-ซาอุฯยังขยายตัว ทั้งปียังคงเป้า 1-2%

วันนี้ (26 มี.ค.2567) นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการส่งออกไทย เดือนก.พ. และ 2 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.) ว่า ส่งออกของไทยในเดือนก.พ. มีมูลค่า 23,384.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 827,139 ล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ 3.6 การนำเข้า มีมูลค่า 23,938.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 856,508 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.2 ขณะที่ดุลการค้า พบว่าไทยขาดดุล 554.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 29,369 ล้านบาท

นายกีรติ  รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์

ส่งออกของไทยยังคงเติบโตต่อเนื่อง ตอบรับการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความเชื่อมั่นด้านการบริโภคที่กลับมา สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลกที่อยู่ในระดับขยายตัว ภาคอุตสาหกรรมของไทยยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

โดยเฉพาะสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หม้อแปลงไฟฟ้า โทรศัพท์ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ในขณะที่สินค้าเกษตรขยายตัวได้ดีจากข้าวและยางพารา ส่วนวิกฤตการณ์ในทะเลแดงส่งผลกระทบเล็กน้อย โดยการส่งออกไปตลาดยุโรปและซาอุดีอาระเบียยังคงขยายตัว

ส่งผลให้ 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.)ส่งออก ขยายตัวร้อยละ 6.7 หรือมีมูลค่า 46,034.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ1,611,719 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.7 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 49,346.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ1,747,195 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.9 โดยไทยยังขาดดุล 3,311.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 135,476 ล้านบาท

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวอีกว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวร้อยละ 1.1 เป็นการกลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 7.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 9.2 กลับมาหดตัวในรอบ 6 เดือน

แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว ขยายตัวร้อยละ 53.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน ในตลาดอินโดนีเซีย สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ เซเนกัล และแอฟริกาใต้ หรือ ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 31.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน ในตลาดจีน สหรัฐฯ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และตุรกี

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ โดย 2 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 3.7

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 5.2 ต่อเนื่อง 5 เดือน มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 24.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 6.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 18.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน เป็นต้น

ต้องจับตาการส่งออกในเดือน มี.ค.2567 ที่ฐานปีก่อนสูงมาก ส่งออกได้สูงถึง 28,004.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่จะมีผลต่อการส่งออก แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่าการส่งออกจะยังโตได้ต่อเนื่อง และทั้งปี จะทำงานหนัก เพื่อให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1-2% ต่อไป
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และทวีปออสเตรเลียยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก แต่การส่งออกไปจีน ญี่ปุ่น และอาเซียน(5) กลับมาหดตัว ตามความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ เช่น ตลาดหลัก ภาพรวมขยายตัวร้อยละ 2.7 ประกอบด้วย สหภาพยุโรป (27) ขยายตัวร้อยละ 3.3 และ CLMV ขยายตัวร้อยละ 4.5 ส่วนตลาดจีน หดตัวร้อยละ 5.7 ญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 5.8 และอาเซียน (5) หดตัวร้อยละ 1.2

ส่วนตลาดรอง ภาพรวมขยายตัวร้อยละ 3.8 โดยขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 26.4 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 7.9 และรัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 46.4

ขณะที่หดตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 2.6 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 9.9 แอฟริกา ร้อยละ 18.2 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 7.3 และตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 94.2 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวร้อยละ 198.2

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า มูลค่าการส่งออกของไทยภาพรวมของปีนี้จะขยายตัวได้จากอุปสงค์ภาคการผลิตที่กลับมาสู่ระดับปกติทำให้ปริมาณการค้าโลกกลับมาขยายตัว และกระแสความมั่นคงทางอาหารที่ยังช่วยให้สินค้าเกษตรของไทยยังคงเติบโตได้ดี

“แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจของคู่ค้าในตลาดหลักอย่างจีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวล่าช้า ภัยแล้งที่กระทบต่ออุปทานสินค้าเกษตร ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและหามาตรการรองรับ”

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้การขนส่งทางทะเล เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ราคาก็ยังสูงกว่าปกติ 1-2 เท่า หากสามารถบริหารจัดการได้ ก็จะไม่กระทบต่อการส่งออก ส่วนตัวเลขเดือน มี.ค.2567 คาดว่าจะส่งออกได้ประมาณ 25,500-26,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ที่ส่งออกได้ 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ไตรมาสแรกปี 2567 จะส่งออกได้รวม 71,500-72,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1-2% ส่วนไตรมาส 2 คาดว่าการส่งออกจะยังขยายตัวได้ดี ประเมินว่าจะอยู่ที่ 71,600 ล้านเหรียญสหรัฐ

 อ่านข่าวอื่นๆ:

ทองปลอมระบาดหนัก มิจฉาชีพใช้เทคนิคใหม่ยัดไส้โลหะ ยากตรวจสอบ

ลูกหนี้บ้านยิ้ม ! ธอส.ขานรับนโยบายคลัง ลดดอกเบี้ยช่วยประชาชน

ชงรัฐบาล ดันอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย ขึ้นแท่นศูนย์กลางอาหารโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง