"สมณะโพธิรักษ์" มรณภาพ ด้วยโรคชรา อายุ 90 ปี

สังคม
11 เม.ย. 67
08:59
9,091
Logo Thai PBS
"สมณะโพธิรักษ์" มรณภาพ ด้วยโรคชรา อายุ 90 ปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วันนี้ (11 เม.ย.2567) เพจ "บุญนิยมทีวี" แจ้งข่าวว่า เมื่อเวลา 06.40.10 น. สมณะโพธิรักษ์ สำนักสันติอโศก มรณภาพ ด้วยโรคชรา อายุ 90 ปี

วันนี้ (11 เม.ย.2567) เฟซบุ๊ก บุญนิยมทีวี โพสต์ข้อความระบุว่า พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ มรณภาพ ด้วยโรคชรา เมื่อเวลา 06.40.10 น.

ขณะที่ นายไพศาล พืชมงคล อดีต สว.โพสต์เฟซบุ๊กระบุ พ่อท่านโพธิรักษ์สิ้นบุญแล้วเมื่อเช้านี้ ด้วยอายุ 90 ปี ขอแสดงความไว้อาลัยอย่างสุดซึ้ง ต่อการจากไปของพ่อท่านซึ่งเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของชาวสันติอโศกจำนวนมาก ท่านได้อุทิศตนเองเพื่อประโยชน์และความสุขของผู้อื่นมาตลอดอายุขัยของท่าน

ประวัติ "สมณะโพธิรักษ์"

ทั้งนี้ สมณะโพธิรักษ์ มีชื่อเดิมว่า มงคล รักพงษ์ เกิดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ที่ จ.ศรีสะเกษ วัยเด็กอาศัยอยู่กับมารดาที่ จ.อุบลราชธานี ภายหลังได้เข้ามาศึกษาชั้นมัธยมที่กรุงเทพฯ เมื่อเรียนจบมัธยมปลายก็ได้เข้าศึกษาต่อ ที่โรงเรียนเพาะช่าง แผนกวิจิตรศิลป์ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "รัก รักพงษ์"

ขณะที่กำลังเรียนอยู่ได้เข้าทำงานที่ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด เป็นผู้จัดรายการ เป็นรายการเกี่ยวกับเด็ก, การศึกษา และวิชาการ นอกจากงานทางสถานีโทรทัศน์แล้ว ก็ยังทำงานเป็น ครูพิเศษ สอนศิลปะตามโรงเรียน นักแต่งเพลงและเด็กส่งหนังสือพิมพ์

ต่อมาได้หันมาศึกษา พุทธศาสนาและได้อุปสมบทในคณะธรรมยุติกนิกาย ณ วัดอโศการาม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 ได้รับฉายาว่า โพธิรกฺขิโต มีพระราชวรคุณ (สำรอง คุณวุฑฺโฒ) เป็นพระอุปัชฌาย์

2 เมษายน พ.ศ. 2516 พระโพธิรักษ์ ได้เข้ารับการแปรญัตติฯ เป็นพระของคณะมหานิกายอีกคณะหนึ่ง โดยมิได้สึกจากคณะธรรมยุต ที่วัดหนองกระทุ่ม จ.นครปฐม โดยมีพระครูสถิตวุฒิคุณ เป็นอุปัชฌาย์ เนื่องจากมีพระคณะมหานิกายเข้ามาร่วมศึกษา และปฏิบัติตามพระโพธิรักษ์ แต่พระราชวรคุณ ซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ ไม่ต้องการ ให้พระฝ่ายมหานิกายเข้ามาศึกษาด้วย

25 เมษายน พ.ศ. 2516 พระโพธิรักษ์ได้คืนใบสุทธิให้ฝ่ายธรรมยุต ถือไว้แต่ใบสุทธิ ฝ่ายมหานิกาย อย่างเดียว

6 สิงหาคม พ.ศ. 2518 พระโพธิรักษ์และคณะ ได้ประกาศ นานาสังวาส กับมหาเถรสมาคม (ประกาศลาออกจากมหาเถรสมาคม) และได้รับความคุ้มครอง ตามมาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า นอกรีต จากการปฏิบัติที่เคร่งครัดของพระโพธิรักษ์และคณะ ได้แก่ ฉันอาหารมังสวิรัติ, ฉันอาหารวันละ 1 มื้อ, ไม่ใช้เงินทอง, นุ่งห่มผ้าย้อมสีกรัก, ไม่มีการเรี่ยไร, ไม่รดน้ำมนต์-พรมน้ำมนต์, ไม่ใช้การบูชา ด้วยธูปเทียน, ไม่มีไสยศาสตร์ฯ

ในภายหลัง พระโพธิรักษ์ และคณะ ได้รับการพิพากษาว่าเป็น ผู้แพ้ ไม่สามารถ เรียกขานตนเองว่า พระ ได้ จึงเรียกตนเองว่า สมณะ แทน และยังคงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเหมือนเดิม

ประวัติ “พุทธสถานสันติอโศก” 

โดยเหตุที่ ‘สมณะโพธิรักษ์’ บวชที่วัดอโศการาม และไปบรรยายธรรม บริเวณ ‘ลานอโศก’ ภายในวัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษดิ์ อยู่เนืองๆ จนได้สมญานามว่า ‘ขวานจักตอก’ ทั้งเมื่อทำหนังสือ ออกเผยแพร่ ตั้งแต่ยุคแรกๆ ได้ใช้ชื่อว่า ‘เรวดียุครุ่งอรุณ ฉบับอโศก’ ส่วนนามปากกา ก็ใช้เป็นอย่างเดียวกันว่า ‘อโศก’ ไม่ว่าใครเขียนก็ตาม

ความที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับคำว่า ‘อโศก’ หลายสถานะ หลายเหตุการณ์ ดังกล่าว เราจึงได้ จับเอาคำว่า ‘อโศก’ มาเป็นชื่อเรียก ในการร่วมเผยแพร่ธรรมะ ตั้งแต่บัดนั้น จนเกิดกลุ่ม ผู้ปฏิบัติธรรม อันประกอบด้วย นักบวชและฆราวาสขึ้นมา

‘ญาติธรรมรุ่นแรก’ ได้ร่วมกันก่อตั้ง สถานที่ปฏิบัติธรรม ชื่อว่า ‘สวนอโศก’ ที่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ถวาย ‘สมณะโพธิรักษ์’ แต่ก็ยัง ไม่เข้ารูปเข้ารอย และไม่ลงตัว ด้วยเหตุหลายประการ

ต่อมาจึงย้ายไปที่แห่งใหม่ เรียกชื่อว่า ‘ธรรมสถานแดนอโศก’ ตั้งอยู่ที่ ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖ และได้ใช้สถานที่นี้ อบรม บำเพ็ญธรรม จนกระทั่ง เกิดเหตุการณ์ ที่บีบคั้นมากมาย ทำให้ลำบาก ในการเผยแพร่ธรรมะ

สุดท้าย ‘สมณะโพธิรักษ์’ และ ‘หมู่สงฆ์’ จึงต้องตัดสินใจ ประกาศตนเป็น “นานาสังวาส” ตามพระธรรมวินัย เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๘ ที่ วัดหนองกระทุ่ม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม

จากนั้น ‘สมณะโพธิรักษ์’ ได้นำพาหมู่กลุ่มมาที่ ‘พุทธสถานสันติอโศก’ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ซึ่งเดิมเป็น “เรือนทรงไทย” หลังใหญ่ ที่คุณสันติยา (กิติยา) วีระพันธุ์ ผู้เป็นเจ้าของ ได้ถวาย ‘สมณะโพธิรักษ์’ ไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๑๕ และ “เรือนทรงไทย” หลังนี้เอง คือ จุดกำเนิดของ “วิหารพันปี เจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ” ในปัจจุบัน

กำหนดการพิธีเคลื่อนสรีรสังขาร "พ่อครูสมณะโพธิรักษ์"

พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ละสังขาร ด้วยโรคชรา เวลา 06.40.10 น.
ชาตะ : วันอังคาร ที่ 5 มิถุนายน 2477
มรณภาพ : วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน 2567
สิริอายุ : อายุ 89 ปี 10 เดือน 6 วัน
อุปสมบท : วันที่ 7 พฤศจิกายน 2513
53 พรรษา 5 เดือน 4 วัน

10.00 น. นายแพทย์มนต์ชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ และนายแพทย์พงษ์พัฒน์ พิมพ์สะ แพทย์เจ้าของไข้มากราบขอขมา

10.30 น. เคลื่อนสรีรสังขาร จาก โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ไปยังบวรราชธานีอโศก

11.00 น. ถึงราชธานีอโศก ***ตั้งขบวนรับจากสะพานโค้งรุ้ง

11.30 น. พิธีบรรจุสรีรสังขารพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ลงหีบ โดยท่านสมณะ ณ ใต้เฮือนศูนย์สูญ

เคลื่อนสรีรสังขาร "สมณะโพธิรักษ์" ไปยังราชธานีอโศก

“ราชธานีอโศก” เป็นโครงการที่ 2 ต่อจากโครงการปฐมอโศก อนุญาตให้สมณะไปจำพรรษาอยู่ที่นั่นได้ ต่อมาหมู่สงฆ์ ได้ลงความเห็น ให้เป็น ‘สังฆสถาน’ และ ต่อมา เมื่อถึงเวลาวาระ ที่ลงตัวขึ้นอีก หมู่สงฆ์ก็ยกขึ้นเป็น ‘พุทธสถาน’ ซึ่งปัจจุบันคือ พุทธสถานราชธานีอโศก
“พุทธสถานราชธานีอโศก” จึงเป็นแหล่งที่แปลกกว่าพุทธสถานที่อื่นๆ ของ ชาวอโศก คือ เกิดชุมชนก่อนพุทธสถาน โดย ที่พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ได้วางนโยบายไว้ว่า ให้ฆราวาสเป็นผู้บริหาร ส่วนสมณะเป็นที่ปรึกษา โดย เน้นเรื่องกสิกรรมธรรมชาติเป็นหลัก ทั้งได้วางหลักการให้เป็นแนวปฏิบัติไว้ 4 ข้อ ด้วย ดังนี้

1. ซื่อสัตย์
2. ขยัน
3. สามัคคี
4. มีวินัย

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง

1. เป็น สังคมร่วม ประกอบด้วยสมณะ และ ฆราวาสผู้สนใจจะปฏิบัติธรรมตามคำสอน ของ สมเด็จพระสัมมา- สัมพุทธเจ้า

2. มีการดำเนินชีวิต และ ความเป็นอยู่เรียบง่าย ไม่มีอบายมุข สิ่งเสพติด ไม่มีเดรัจฉานวิขา หรือ ไสยศาสตร์ มีชีวิตที่ประหยัด ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ลดการกินการใช้จ่ายที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย หรือ ที่ไม่จำเป็นตามกรอบ ของ ศีล 5, ศีล 8, ศีล 10, จุลศีล มัชฌิมาศีล มหาศีล และ มรรคมีองค์ 8 ตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

3. พัฒนาจิตสำนึกให้มีความขยัน สร้างสรรค์ เสียสละ ในการประกอบสัมมาอาชีพเป็นบุญกุศล รู้รักสามัคคี มีเมตตา และ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ สังคม

4. อนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศ และ สิ่งแวดล้อม ในการรักษานิเวศป่า นิเวศน้ำ และ แบ่งพื้นที่ทำกสิกรรมธรรมชาติไร้สารเคมีทุกชนิด เพื่อ การกินอยู่ภายในชุมชน

5. มีกิจกรรมร่วมแรงกันสร้างสรรค์ผลผลิตด้านปัจจัย ๔ (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค) เพื่อ สร้างสังคมที่พึ่งตนเองอย่าง “ครบวงจร” ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดย ยึดหลัก “บุญนิยม” คือการทำงานที่เป็นประโยชน์แก่ ส่วนรวม เป็นบุญกุศล ของ ตนเอง

6. มีการอบรม และ เผยแพร่พระธรรมคำสอนแก่ สมาชิกในชุมชน และ ผู้สนใจ

ข้อมูลจาก ชุมชมสันติอโศก , องค์การบริหารส่วนตำบลพระประโทน

อ่าน 

9 เช็กลิสต์ ก่อนออกจากบ้าน ช่วงเทศกาลสงกรานต์

นายกฯ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำเนียบฯ-รดน้ำขอพรสงกรานต์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง