เพราะอิสราเอลคือ "มะเร็ง" อิหร่านเปลี่ยนความคิด "พันธมิตรสู่ศัตรู"

ต่างประเทศ
15 เม.ย. 67
14:00
5,129
Logo Thai PBS
เพราะอิสราเอลคือ "มะเร็ง" อิหร่านเปลี่ยนความคิด "พันธมิตรสู่ศัตรู"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ขีปนาวุธและโดรนที่ถูกยิงจากกรุงเตหะรานมุ่งหน้าทำลายดินแดนศักดิ์สิทธิ์เยรูซาเล็ม นับเป็นการเปิดหน้าโจมตีกัน "ครั้งแรก" ของอิหร่าน-อิสราเอล หลังจากทั้ง 2 ชาติต่างใช้ยุทธวิธี "สงครามเงา" มุ่งทำลายล้างกันอย่างยาวนาน เปิดสาเหตุ อะไรทำให้ทั้งคู่ต้องชิงชังกัน

สงครามบริเวณฉนวนกาซาไม่อาจยุติลงในเร็ววัน หลังจากค่ำคืนวันที่ 13 เม.ย.2567 ขีปนาวุธและโดรนนับ 300 ลำที่กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม กองทัพอย่างเป็นทางการของอิหร่าน ถูกส่งข้ามน่านฟ้าประเทศอิรัก ซีเรีย จอร์แดน มุ่งสู่นครเยรูซาเล็ม ประเทศอิสราเอล เป้าหมายเพื่อตอบโต้การโจมตีสถานกงสุลอิหร่าน ในพื้นที่กรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย ที่ทำให้นายทหารระดับสูงของอิหร่านและทหารในพื้นที่เสียชีวิตรวม 13 คน เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา 

ชาวอิหร่านถือภาพ 2 นายทหารชั้นสูงที่เสียชีวิตจากการโจมตีที่สถานกงสุลอิหร่านในซีเรีย

ชาวอิหร่านถือภาพ 2 นายทหารชั้นสูงที่เสียชีวิตจากการโจมตีที่สถานกงสุลอิหร่านในซีเรีย

ชาวอิหร่านถือภาพ 2 นายทหารชั้นสูงที่เสียชีวิตจากการโจมตีที่สถานกงสุลอิหร่านในซีเรีย

ทั่วโลกคาดการณ์เหตุการณ์การตอบโต้ครั้งนี้ อาจส่งผลให้ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางขยายแผ่วงกว้างมากขึ้น และการเรียกร้องอิสราเอลให้หยุดยิงในกาซาอาจริบหรี่ลง 

อิหร่าน-อิสราเอล จากมิตรสู่ศัตรู

BBC รายงานว่า ความเป็นพันธมิตรของอิสราเอลและอิหร่านนั้นสิ้นสุดลงในปี 1979 หลังเกิดการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง "อิหร่าน" เริ่มมองว่าการมีอยู่ของอิสราเอลคือ "มะเร็ง" ที่ต้องกำจัดให้สิ้นซาก ซึ่งสิ่งนี้ถูกยืนยันโดย อายะตุลลอฮ์ อะลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน

อิสราเอลเป็นเนื้องอกชนิดร้ายที่ต้องถูกถอนรากถอนโคนและถูกทำลายอย่างไม่ต้องสงสัย
ผู้นำสูงสุดอิหร่านยืนไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุโจมตีสถานกงสุลที่เชื่อว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล

ผู้นำสูงสุดอิหร่านยืนไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุโจมตีสถานกงสุลที่เชื่อว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล

ผู้นำสูงสุดอิหร่านยืนไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุโจมตีสถานกงสุลที่เชื่อว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล

ความคิดนี้ทำให้ "อิสราเอล" มองว่า "อิหร่าน" ก็เป็นภัยคุกคามเช่นกัน แม้อิหร่านจะออกมาปฏิเสธข่าวลือเรื่องการแสวงหานิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง การซ่องสุมอาวุธสงคราม แต่อิสราเอลยังเชื่อว่า อิหร่านอยู่เบื้องหลังกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ที่รายล้อมอิสราเอล โดยอิหร่านใช้วิธีการเสริมสร้างกองกำลังตัวแทนที่สาบานว่าจะทำลายล้างอิสราเอล ให้ทุนสนับสนุน ติดอาวุธให้กับกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มปาเลสไตน์ กองกำลังติดอาวุธฮามาส กลุ่มติดอาวุธชีอะห์ในเลบานอน กองกำลังติดอาวุธเฮซบอลเลาะห์ทางใต้ของเลบานอน 

"มิตรแท้" อิหร่าน

ซีเรียถือเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของอิหร่าน ในอดีตนั้น อิหร่านร่วมมือกับรัสเซีย ช่วยให้บาชาร์ อัล-อัสซาด ปธน.ซีเรีย รอดพ้นจากสงครามกลางเมืองที่กินเวลานานนับสิบปีของประเทศ

เฮซบอลเลาะห์ในเลบานอน กลุ่มติดอาวุธที่ทรงอิทธิพลที่สุดที่อิหร่านหนุนหลัง ในขณะที่อิสราเอลยังไม่หยุดโจมตีฮามาสในกาซา ก็ยังต้องรบกับเฮซบอลเลาะห์ที่อยู่ทางเหนือของประเทศเช่นกัน

กองกำลังติดอาวุธชีอะห์ในอิรัก อิหร่านก็ให้การสนับสนุนเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้จากการโจมตีกองทัพสหรัฐฯ ที่ตั้งฐานทัพในอิรัก ซีเรีย และ จอร์แดน 

ขบวนการฮูตีในเยเมน กลุ่มนี้แสดงการสนับสนุนกลุ่มฮามาสในกาซา ฮูตีได้ยิงขีปนาวุธและโดรนใส่อิสราเอล และยังโจมตีการขนส่งเชิงพาณิชย์ใกล้ชายฝั่ง ทำให้เรือจมอย่างน้อย 1 ลำ ทำให้สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรต้องตอบโต้กลับ

กลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ และกลุ่มฮามาส เชื่อว่าเป็นกลุ่มที่อิหร่านจัดหาอาวุธและการฝึกอบรมนักรบให้โจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2566 จุดชนวนให้เกิดสงครามในปัจจุบันในกาซา แต่อิหร่านปฏิเสธการถูกอ้างว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีที่ขณะนี้คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปแล้วว่า 33,000 คน 

เทียบความสามารถกองทัพ อิหร่าน-อิสราเอล

แม้อิหร่านจะมีขนาดพื้นที่ที่ใหญ่กว่าอิสราเอล รวมถึงมีประชากรเกือบ 90 ล้านคน ซึ่งมากกว่าอิสราเอลเกือบ 10 เท่า แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีความสามารถทางกองทัพมากขึ้นตามไปด้วย เพราะถึงแม้อิหร่านจะลงทุนกับยุทโธปกรณ์จำนวนมาก แต่ก็ยังต้องส่งอาวุธเหล่านั้นให้กับกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ที่เป็นพันธมิตร เช่น กลุ่มฮูตีในเยเมน กลุ่มเฮซบอลเลาะห์ในเลบานอน  

สิ่งที่อิหร่านยังไม่มี คือ ระบบป้องกันทางอากาศและเครื่องบินรบสมัยใหม่ ที่เชื่อกันว่ารัสเซียกับอิหร่านกำลังร่วมมือกันสร้างอยู่

ขณะที่ "อิสราเอล" ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีกองทัพอากาศที่ก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตามรายงานความสมดุลทางทหารของ IISS อิสราเอลมีฝูงบินไอพ่นอย่างน้อย 14 ฝูง รวมถึง F-15, F-16 และเครื่องบินล่องหน F-35 รุ่นล่าสุด นอกจากนี้ อิสราเอลยังมีทักษะการโจมตีชั้นเลิศในพื้นที่สงครามด้วย

นครเยรูซาเล็ม หลังการถูกโจมตีจากอิหร่าน

นครเยรูซาเล็ม หลังการถูกโจมตีจากอิหร่าน

นครเยรูซาเล็ม หลังการถูกโจมตีจากอิหร่าน

หลายชาติเชื่อว่า "อิสราเอล" มีหัวรบนิวเคลียร์เป็นของตัวเอง แต่อิสราเอลไม่เคยออกมายอมรับ โดยให้เหตุผลที่ไม่สามารถเปิดเผยไว้ว่า "เป็นความลับทางการทหาร" ขณะที่ "อิหร่าน" นั้นยังไม่มีนิวเคลียร์ แต่หลายฝ่ายก็เชื่อเหมือนกันว่า อิหร่านก็กำลังแสวงหาอาวุธทำลายล้างเพื่อเตรียมทำสงคราม หรืออาจจะมีไว้เพื่อป้องกันตนเอง ก็เป็นได้ 

ปี 2023 หน่วยงานเฝ้าระวังนิวเคลียร์ทั่วโลก พบว่าอนุภาคยูเรเนียมที่โรงผลิตเชื้อเพลิงที่ฟอร์ดอว์ซึ่งอยู่ใต้ดินของอิหร่าน มีความบริสุทธิ์ถึงร้อยละ 83.7 ซึ่งใกล้เคียงกับเกรดอาวุธมาก แต่อิหร่านแก้ตัวว่าอาจเกิด "ความผันผวนโดยไม่ได้ตั้งใจ" ในขั้นตอนการผลิตชื้อเพลิงก็ได้ 

คำขู่อิหร่าน-คำขาดอิสราเอล-คำขอโลก  

ทอม เฟลตเชอร์ ที่ปรึกษานโยบายต่างประเทศของนายกฯ อังกฤษหลายคน และอดีตเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำเลบานอน กล่าวกับ BBC ว่าการระดมยิงของอิหร่านเป็น "สัญญาณที่น่าตกใจ" ถึงความสามารถและการโจมตีอิสราเอลของอิหร่าน 

นี่เป็นการโจมตีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนของอิหร่าน เขาเพียงต้องการแสดงความสามารถให้เห็น ไม่ได้มุ่งไปสู่การเพิ่มความรุนแรงใดๆ 

อิหร่านกำลังส่งสารไปทั่วโลกว่า "อย่าริอาจเล่นกับไฟ" โดย รมว.ต่างประเทศของอิหร่าน ยืนแถลงออกโรงเตือนอิสราเอล ว่า อิหร่านได้ยุติการยิงแล้ว และเหตุผลการโจมตีก็ทำตามกฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา 51 ที่ประเทศสมาชิกสามารถโจมตีประเทศคู่อริได้ หากถูกโจมตีก่อน และถือว่าเป็นการปกป้องประเทศและประชาชนในประเทศ และยังเตือนอิสราเอลอย่าคิดตอบโต้กลับ เพราะอิหร่านจะโจมตีกลับอย่างสาสม เด็ดขาด มากกว่านี้แน่นอน

รมว.ต่างประเทศอิหร่าน

รมว.ต่างประเทศอิหร่าน

รมว.ต่างประเทศอิหร่าน

ส่วนทางด้านสหรัฐฯ หากพบว่าการตอบโต้ที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ สหรัฐฯ มีส่วนรู้เห็น ทางกองทัพอิหร่านพร้อมโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ที่อยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างแน่นอน และยังบอกทางอ้อมด้วยว่า อิสราเอลเป็นพวก "หน้าซื่อใจคด" ที่ไม่โจมตีอิหร่านโดยตรง ดั่งที่ครั้งนี้อิหร่านเองก็ไม่เลือกโจมตีผ่านตัวแทนอีกแล้ว 

ทางด้านเบนจามิน เนทันยาฮู นายกฯ อิสราเอล หลังจากประชุมกับรัฐมนตรีสงครามเสร็จ ก็ยืนยันเด็ดขาดว่า อิสราเอลมีแผนการโจมตีกลับอิหร่านแน่นอน เพียงแต่รอเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งทั่วโลกยังต้องจับตาว่า ท่าทีของเนทันยาฮู จะเลือกโจมตีกลับอิหร่านทางตรงหรือไม่ หากเป็นภาษามวยคงเรียกว่าจะ "ถอดนวมชกทั้งคู่" หรือไม่นั่นเอง

นายกฯ อิสราเอลเรียกประชุมด่วนหลังถูกอิหร่านโจมตีเมื่อคืนวันที่ 13 เม.ย.2567

นายกฯ อิสราเอลเรียกประชุมด่วนหลังถูกอิหร่านโจมตีเมื่อคืนวันที่ 13 เม.ย.2567

นายกฯ อิสราเอลเรียกประชุมด่วนหลังถูกอิหร่านโจมตีเมื่อคืนวันที่ 13 เม.ย.2567

ทั้ง 2 ชาติตะวันออกกลางยังต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ ที่แน่นอนว่าต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ให้หยุดการโจมตี เพราะไม่ว่าฝ่ายใดจะโจมตีก็ตาม แต่ความสูญเสียทั้งหมดย่อมตกกับพลเรือนผู้บริสุทธิ์ทั้งสิ้น ขณะเดียวกัน ผู้นำของทั้ง 2 ชาติยังต้องฟังเสียงของคนในชาติตัวเองต่อเหตุการณ์ครั้งนี้อีกด้วย

"อิสราเอล" ที่กำลังถูกคนในประเทศประท้วงหลังพาประเทศเข้าสู่วิกฤตสงครามร่วมครึ่งปี แต่ที่ "อิหร่าน" ประชาชนกลับลุกฮือดีใจกับการโจมตีที่รัฐบาลสามารถปล่อยคลังแสงเข้าน่านฟ้าอิสราเอลได้ แม้จะถูกสกัดกั้นได้ถึงร้อยละ 99 เลยก็ตามที 

ประชาชนเรียกร้องยุติการโจมตี

ประชาชนเรียกร้องยุติการโจมตี

ประชาชนเรียกร้องยุติการโจมตี

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง