"นิวเคลียร์" จุดอ่อนอิหร่าน ทั่วโลกหวั่น "อิสราเอล" โจมตี

ต่างประเทศ
18 เม.ย. 67
12:22
7,420
Logo Thai PBS
"นิวเคลียร์" จุดอ่อนอิหร่าน ทั่วโลกหวั่น "อิสราเอล" โจมตี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้นำสหภาพยุโรปเตรียมยกระดับมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน โดยพุ่งเป้าไปที่ผู้ผลิตโดรนและขีปนาวุธ ขณะที่ผู้นำอิสราเอลยืนยันว่า จะตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะปกป้องประเทศอย่างไร

วันนี้ (18 เม.ย.2567) เบนจามิน เนทันยาฮู นายกฯ อิสราเอล กล่าวขอบคุณมิตรประเทศที่ให้การสนับสนุนอิสราเอลทั้งทางวาจาและการกระทำ รวมถึงคำแนะนำในทุกรูปแบบ แต่อิสราเอลจะตัดสินใจด้วยตัวเอง และจะทำทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อปกป้องตัวเอง

ถ้อยแถลงของผู้นำอิสราเอล มีขึ้นหลังจากได้พบปะพูดคุยกับ รมว.ต่างประเทศของเยอรมนีและอังกฤษ ที่เดินทางเยือนอิสราเอล รวมถึงได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้นำหลายประเทศ ที่ขอให้อิสราเอลใช้ความอดทนอดกลั้น ละเว้นการโต้กลับอิหร่าน

เบนจามิน เนทันยาฮู นายกฯ อิสราเอล

เบนจามิน เนทันยาฮู นายกฯ อิสราเอล

เบนจามิน เนทันยาฮู นายกฯ อิสราเอล

ส่วนการประชุมของผู้นำสหภาพยุโรป (EU) ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก หลังอิหร่านโจมตีอิสราเอลช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าจะยกระดับการคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจน และ EU จะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องพลเรือน รวมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยตัวประกันทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไขและขอให้พักรบทันที

นอกจากนี้ยังขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้น ละเว้นการกระทำใดๆ ที่อาจเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาค ผลการหารือเบื้องต้น อียูระบุว่า จะใช้มาตรการคว่ำบาตรชุดใหม่กับผู้ผลิตโดรนและขีปนาวุธของอิหร่าน จากเดิมที่ใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน เพื่อลงโทษกรณีที่สนับสนุนโดรนให้รัสเซียทำสงครามในยูเครน

EU แถลงคว่ำบาตรอิหร่าน

EU แถลงคว่ำบาตรอิหร่าน

EU แถลงคว่ำบาตรอิหร่าน

แม้ว่าขณะนี้รัฐบาลเฉพาะกิจของอิสราเอลจะยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะใช้วิธีไหนโจมตีเพื่อตอบโต้อิหร่าน แต่วิธีหนึ่งที่กำลังสร้างความกังวลไปทั่วโลก นั่นคือ การโจมตีโครงการนิวเคลียร์ในอิหร่าน คุณทิพย์ตะวัน เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่อิสราเอลจะเลือกใช้วิธีนี้

อิสราเอลพุ่งเป้าถล่มโครงการนิวเคลียร์ "อิหร่าน" ?

สถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ใกล้แตะจุดเดือด ทำให้โครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านกลับเข้ามาอยู่ในความสนใจของคนทั่วโลกอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากอิหร่านเปิดฉากโจมตีเข้าไปในแผ่นดินอิสราเอลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

กองทัพอิหร่านขนอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งรวมถึงโดรนหลากหลายรุ่น ขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยไกลและระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-300 มาโชว์ศักยภาพทางทหาร ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของพิธีสวนสนามเนื่องในวันกองทัพที่จัดขึ้นชานกรุงเตหะรานเมื่อวานนี้ (17 เม.ย.2567)

กองทัพอิหร่านขนอาวุธยุทโธปกรณ์ โชว์ศักยภาพทางทหาร ในพิธีสวนสนาม ที่กรุงเตหะราน

กองทัพอิหร่านขนอาวุธยุทโธปกรณ์ โชว์ศักยภาพทางทหาร ในพิธีสวนสนาม ที่กรุงเตหะราน

กองทัพอิหร่านขนอาวุธยุทโธปกรณ์ โชว์ศักยภาพทางทหาร ในพิธีสวนสนาม ที่กรุงเตหะราน

ปธน.อิหร่าน ประกาศความพร้อมในการตอบโต้การโจมตีใดๆ จากอิสราเอล หลังอิหร่านยกย่องความสำเร็จของปฏิบัติการส่งโดรนและยิงขีปนาวุธกว่า 300 ลูก ถล่มอิสราเอล เพื่อตอบโต้การโจมตีสถานทูตในกรุงดามัสกัสของซีเรีย เมื่อวันที่ 1 เม.ย. แม้การโจมตีของอิหร่านจะถูกอิสราเอลและพันธมิตรสกัดเอาไว้ได้เกือบทั้งหมดก็ตาม

แม้อิหร่านจะพยายามพัฒนานิวเคลียร์มานานหลายปีแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่ถือว่าเป็นประเทศที่ครอบครองนิวเคลียร์ ต่างจากอิสราเอลที่เชื่อว่าน่าจะได้รับเทคโนโลยีนี้จากสหรัฐฯ ขณะที่รัฐบาลอิหร่านย้ำมาโดยตลอดว่าโครงการนิวเคลียร์ของประเทศเป็นการพัฒนาด้านพลังงานเพื่อกิจการพลเรือนและไม่เกี่ยวข้องกับการทหารแต่อย่างใด

อ่านข่าวอื่น :

ปัจจุบัน อิหร่านแจ้งข้อมูลต่อทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ว่ามีสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการวิจัยนิวเคลียร์ 21 แห่ง ซึ่งในแผนที่นี้แสดงให้เห็นเพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยในกรุงเตหะราน ศูนย์วิจัยด้านนิวเคลียร์ทั้งของพลเรือนและกองทัพ ไปจนถึงเหมืองยูเรเนียม

อิหร่านแถลงเรื่องนิวเคลียร์ต่อ IAEA

อิหร่านแถลงเรื่องนิวเคลียร์ต่อ IAEA

อิหร่านแถลงเรื่องนิวเคลียร์ต่อ IAEA

จุดที่น่าสนใจ คือ ศูนย์วิจัยกองทัพใกล้เมืองหลวง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีขีปนาวุธอิหร่าน ขณะที่ศูนย์นิวเคลียร์พลเรือน 2 แห่ง ที่อยู่ใกล้ๆ กัน ถูกระบุว่าเป็นศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและโจมตีได้ยาก เพราะมีบางส่วนอยู่ใต้ดินและมีระบบต่อต้านอากาศยานประจำการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการใหญ่ IAEA ออกมาแสดงความกังวลถึงความเป็นไปได้ในการที่อิสราเอลจะเลือกโจมตีสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนานิวเคลียร์ในอิหร่าน หลังจากรัฐบาลอิหร่านแจ้งปิดสถานที่ดังกล่าวทั้งหมดทั่วประเทศเมื่อวันอาทิตย์ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

ขณะที่มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ IAEA ได้รับอนุญาตให้เข้าตรวจสอบสถานที่เหล่านี้ได้ตามปกติอีกครั้งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (16 เม.ย.2567) ซึ่งนักวิเคราะห์ มองว่า หากอิสราเอลต้องการจะโจมตีเข้าไปในดินแดนอิหร่าน เป้าหมายนิวเคลียร์อาจกลายเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกถึง 2 ตัว นั่นคือ การชะลองานวิจัยนิวเคลียร์ของอิหร่านและการตอบโต้อิหร่านไปพร้อมๆ กัน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อิสราเอลพุ่งเป้าโจมตีโครงการนิวเคลียร์อิหร่านหลายครั้ง เนื่องจากมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อการคงอยู่ของอิสราเอล โดยสถาบันสันติภาพสหรัฐฯ แบ่งการโจมตีของอิสราเอลเป็น 2 ระลอก ระลอกแรกตั้งแต่ปี 2010 ถึงปี 2012 เกิดขึ้นในช่วงก่อนที่อิหร่านจะทำข้อตกลงนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ขณะที่ระลอกที่ 2 เริ่มขึ้นในปี 2018 หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ปธน.สหรัฐฯ ในขณะนั้น ฉีกข้อตกลงดังกล่าวทิ้งและประกาศมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน

ส่วนกลยุทธ์ที่อิสราเอลใช้จะมีหลักๆ นั่นคือ การส่งไวรัสและมัลแวร์เข้าโจมตีระบบคอมพิวเตอร์และจารกรรมข้อมูลจากระบบออนไลน์ของเป้าหมาย การวางระเบิดเพื่อสร้างความเสียหายให้กับสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม การบุกโจมตีไปจนถึงการลอบสังหารผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัย

โมห์เซน ฟาครีซาเดห์ นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ชื่อดัง ซึ่งข่าวกรองอิสราเอลและตะวันตกยกให้เป็นบิดาของโครงการอาวุธนิวเคลียร์อิหร่าน ตกเป็นเป้าการโจมตี เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2020

ทางการอิหร่านประณามเหตุลอบสังหารชานกรุงเตหะรานในครั้งนี้ว่าเป็นการก่อการร้ายจากฝีมือของอิสราเอล พร้อมทั้งประกาศยกระดับการพัฒนานิวเคลียร์จากงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์คนนี้ ซึ่งถูกสหประชาชาติคว่ำบาตรในปี 2007 และสหรัฐฯ ในปี 2008 โดยในระหว่างปี 2010 - 2020 มีนักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านถูกลอบสังหารไปแล้วไม่ต่ำกว่า 5 คน

ตอนนี้ยังไม่มีใครฟันธงได้ว่าอิสราเอลจะเลือกใช้วิธีไหนในการตอบโต้อิหร่าน แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีอะไรก็ตาม ย่อมส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อิสราเอลจะทำอะไรก็ต้องชั่งน้ำหนักถึงผลกระทบที่จะตามมาให้ดี 

อ่านข่าวอื่น :

ข่าวที่เกี่ยวข้อง