บาทอ่อนดันส่งออก “หอมมะลิไทย” 3 เดือน พุ่ง 40.4%

เศรษฐกิจ
4 พ.ค. 67
08:45
1,163
Logo Thai PBS
บาทอ่อนดันส่งออก “หอมมะลิไทย” 3 เดือน พุ่ง 40.4%
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สมาคมผู้ส่งออกข้าว เผย ส่งออกข้าวไทย 3 เดือนเพิ่มขึ้น19.4% “ข้าวหอมมะลิ-ข้าวขาว” โตต่อเนื่อง ผู้นำเข้าเร่งชดเชยอุปทานข้าวในประเทศลดลง บวกค่าบาทอ่อนค่าดันราคาข้าวไทยแข่งขันได้

วันนี้ (4 พ.ค.2567) นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ข้อมูลของกรมศุลกากรการส่งออกข้าวช่วง 3 เดือนแรกของปี (ม.ค.-มี.ค. 2567) มีปริมาณ 2,464,585 ตัน มูลค่า 56,730 ล้านบาท หรือ1,611.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯโดยปริมาณเพิ่มขึ้น 19.4% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 49.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2566 ที่ส่งออกปริมาณ 2,063,910 ตัน มูลค่า 38,067 ล้านบาท หรือ1,125.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์   นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

สำหรับการส่งออกข้าวในเดือนมี.ค. 2567 พบว่ามีปริมาณ 716,619 ตัน มูลค่า 17,329 ล้านบาท ซึ่งปริมาณลดลง 10.4% และมูลค่าลดลง 6.5% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ. ที่มีการส่งออกมีปริมาณ 800,225 ตัน มูลค่า 18,531 ล้านบาท

นายเจริญกล่าวอีกว่า เดือนก.พ. การส่งออกข้าวนึ่ง ข้าวหอมมะลิ และปลายข้าวมีปริมาณลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะข้าวนึ่ง ที่ในปีนี้ปริมาณส่งออกลดลงมากกว่า 50% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการของประเทศผู้ซื้อลดลง ประกอบกับข้าวนึ่งของอินเดียยังคงมีราคาต่ำกว่าไทยมาก จึงทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวนึ่งจากอินเดีย

ข้าวหอมมะลิ

ข้าวหอมมะลิ

ข้าวหอมมะลิ

อย่างไรก็ตามในกลุ่มของข้าวขาวยังคงมีการส่งออกอย่างต่อเนื่องมีปริมาณ 479,866 ตัน ใกล้เคียงกับเดือนก่อน ตลาดหลัก เช่น อินโดนีเซีย โมซัมบิก อิรัก มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เบนิน เป็นต้น

ขณะที่การส่งออกข้าวนึ่งมีปริมาณเพียง 41,295 ตัน ลดลง 5.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ตลาดหลัก เช่น แอฟริกาใต้ เยเมน เป็นต้น ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 109,448 ตัน ลดลง 4.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน มีตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ แคนาดา จีน สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย เป็นต้น

อย่างไรก็ตามคาดว่าในเดือนเม.ย.ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ระดับประมาณ 800,000 ตัน เนื่องจากผู้ส่งออกยังคงมีสัญญาที่ต้องเร่งส่งมอบข้าวให้กับผู้ซื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มของข้าวขาวซึ่งส่วนใหญ่ยังคงส่งไปยังประเทศในแถบอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น รวมทั้งตลาดหลักในภูมิภาคแอฟริกา เช่น โมซัมบิก แองโกล่า ไอวอรี่โคสต์ และตะวันออกกลาง เช่น อิรัก ประกอบกับเริ่มมีการส่งมอบข้าวให้อินโดนีเซียตามสัญญาส่งมอบแบบรัฐต่อรัฐบ้างแล้ว

ขณะที่ตลาดนำเข้าข้าวหอมมะลิที่สำคัญ ทั้งในภูมิภาคอเมริกา เช่น สหรัฐฯ แคนาดา และภูมิภาคเอเชีย เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ รวมทั้งตลาดยุโรป ยังคงนำเข้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อชดเชยอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลง ประกอบกับในช่วงนี้ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่า จึงช่วยทำให้ราคาข้าวของไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ และจูงใจให้ผู้ซื้อหันมาหาข้าวไทยมากขึ้น

สำหรับราคาข้าวขาว 5% ของไทย อยู่ที่ 599 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน เวียดนามอยู่ที่ 579-583 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน และปากีสถานอยู่ที่ 578-582 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 602 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งอินเดีย อยู่ที่ 537-541 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน และปากีสถานอยู่ที่ 601-605 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน

โดย 3 เดือน อินเดียยังคงเป็นผู้ส่งออกข้าวเบอร์หนึ่ง มีปริมาณส่งออกที่ 4.30 ล้านตัน ลดลง 28.1% ขณะที่ไทยส่งออกเป็นเบอร์2 มีปริมาณ 2.46 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 19.4% รองลงมาเป็นเวียดนาม ปริมาณ 2.18 ล้านตัน และปากีสถาน มีปริมาณ 1.98 ล้านตัน

อ่านข่าวอื่นๆ:

ราคาทองคำ ภาคบ่ายร่วงต่อ ลบ 50 บาท คาดยังลงต่อเนื่อง

“ค้าภายใน” ช่วยชาวบ้านลดค่าครองชีพ ขายไข่คละแผง 95 บาท

จ่อเปิด 2 โกดัง "จำนำข้าว" ภูมิธรรม ดันขายข้าวเก่า 10 ปี ยังกินได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง