"สารรมควัน" ในเมล็ดข้าวสาร "ไม่เสื่อมสภาพ ตกค้าง ล้างไม่ออก"

การเมือง
7 พ.ค. 67
14:48
3,313
Logo Thai PBS
"สารรมควัน" ในเมล็ดข้าวสาร "ไม่เสื่อมสภาพ ตกค้าง ล้างไม่ออก"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ยังคาใจกับ “คอนเทนต์” กินข้าว 10 ปี จากโครงการรับจำนำข้าวในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ลงทุนพาสื่อบุกพิสูจน์ โกดังเก็บข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลจำนวน 112,711 กระสอบ และที่ บ.พูนผลเทรดดิ้ง 32,879 กระสอบ รวมประมาณ 150,000 กระสอบ เป็นข้าวปี 56/57 เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งที่ 2 หลังจากลงพื้นที่ชิมโชว์ครั้งแรก เมื่อเดือน เม.ย.

ในขณะที่ “ภูมิธรรม” ตอบคำถามสื่อวันนี้ (7 พ.ค.) อีกครั้งด้วยความมั่นใจช่วงหนึ่งว่า “ชิมแล้วไม่มีกลิ่นหืน ไม่มีความรู้สึกว่าจะกินไม่ได้ ความหอมอาจจะลดลงไม่เหมือนข้าวใหม่ แต่ความนุ่มนวลไม่มีปัญหาอะไร”

..และอยากให้เรื่องนี้ปิดตำนานไปเสีย ส่วนในทางคดีจะเป็นอย่างไรไม่ใช่ภารกิจของตน ใครมีส่วนเกี่ยวข้องก็ว่ากันไป...

“ใครทานได้ก็ทาน ใครไม่อยากทานก็ไม่ต้องทาน ใครซื้อก็ซื้อ ซื้อไม่ได้ก็ไม่ต้องซื้อ ตนไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเติมมากกว่าสิ่งที่ควรทำ และหากในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ หารือกันจนสิ้นสงสัย ก็จะเร่งดำเนินการประมูลภายในเดือน พ.ค.นี้ หรืออย่างช้าไม่เกินเดือน มิ.ย.อยากให้มันจบจะได้ไปทำเรื่องอื่นต่อ ไม่อยากให้เกิดดรามา เอาจินตนาการมาชี้นำความจริง” รมว.พาณิชย์ ย้ำ

การชิมข้าวโชว์ถึง 2 ครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้สังคมต้องออกมาตั้งคำถามว่า ข้าวสาร 10 ปีจากมหากาพย์โครงการรับจำนำข้าว ที่นำมาหุงและกินโชว์นั้น มีคุณภาพเพียงพอที่จะนำมาบริโภคหรือไม่ และหากมีการระบายข้าวทั้งหมดออกไป ไม่ว่าจะนำไปจำหน่ายในตลาดภายในประเทศหรือต่างประเทศจะส่งผลกระทบอะไรตามมาหรือไม่

“มีคำถามพอสมควรกับการรับประทานข้าวโชว์ครั้งนี้ แม้ รมว.พาณิชย์ จะบอกว่า ข้าวที่เก็บไว้ในสต็อกยังนำมาหุงกินได้ แต่ต้องยอมรับว่า โครงการรับจำนำข้าวเก็บมา 10 ปีแล้ว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้องมีการเสื่อมสภาพ ทั้งจากสภาพอากาศ และสารรมควันข้าว ที่นำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นสารเมทิลโบรไมด์ (methyl bromide) และ อลูมิเนียมฟอสไฟด์ (aluminium phosphide) หรือ ฟอสฟีน ที่ตกค้างอยู่ในเมล็ดข้าวสาร” ข้อสังเกตของ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI)

การเก็บรักษาข้าวสารปฏิเสธไม่ได้จำเป็นต้องใช้สารรมควัน เพื่อป้องกัน มอด แมลง หรือเชื้อรา หรือสารก่อมะเร็งที่เรียกว่า “อะฟลาท็อกซิน” โดยสารประเภทนี้จะตรวจพบได้ในตระกูลข้าวกล้อง ที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง แต่สำหรับข้าวสาร หากเก็บรักษาในสภาพอากาศที่แห้ง และไม่อับชื้นจะมีสารอะฟลาท็อกซินน้อยกว่า แต่สำหรับข้าวในโครงการรับจำนำข้าว 10 ปี ถือว่า ก็มีความเสี่ยงสูง แม้ว่าจะเป็นข้าวสารก็ตาม

“เราเคยตรวจพบสารตกค้างเมทิลโบรไมด์ ในถุงข้าวสาร ที่ผู้ประกอบการยังนำข้าวสารไปอบในกระบวนการระหว่างที่รอเตรียมจำหน่ายได้ แต่กับข้าวสารที่ถูกเก็บมาเป็นระยะเวลานาน 10 ปี จะมีสารตกค้างขนาดไหน มีผลวิจัยพบว่า สารเมทิลโบรไมด์ ยังตกค้างอยู่ในเนื้อข้าวสาร ต่อให้ล้างหลายครั้งๆ ก็ไม่ออกจากเมล็ดข้าว เราเคยศึกษาวิจัยเรื่องนี้ และนักวิชาการของกรมวิชาการเกษตรก็ยอมรับ และไม่ได้ปฏิเสธ” ผู้อำนวยการไบไอไทย กล่าว

และวิเคราะห์ว่า เหตุที่รัฐบาลต้องมาหุงข้าวและกินข้าวในโครงการรับจำนำข้าวโชว์ในครั้งนี้ อาจต้องการเบี่ยงเบนประเด็น หรือเรียกซีน เพื่อให้คนหรือสังคมออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ข้าวในโครงการฯ ที่ยังเก็บอยู่ในสต็อกฯ หากค่อยๆ ทำไป แล้วขายเพื่อเคลียร์ปัญหาให้จบ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเรื่องนี้ เพราะลำพังการกินข้าวโชว์เฉยๆ นั้น ไม่ได้เป็นคุณกับรัฐบาลเลย

อย่างไรก็ตามสิ่งที่รัฐบาล ควรอธิบายกับประชาชนให้เข้าใจมากกว่าการบอกว่า ข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวฯยังสามารถนำมาบริโภคได้ คือ ยังมีข้าวเหลืออีกเท่าไหร่ และมีคุณภาพที่จะนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ข้าวนึ่ง ปุ๋ย อาหารสัตว์

“บริษัทที่ไหนที่จะเข้าร่วมประมูล เพื่อจะได้เรียกร้องความรับผิดชอบในการนำข้าวเก่า 10 ปีมาจำหน่าย หากเกิดเหตุอะไรในอนาคต เพราะการเก็บรักษาข้าวเท่าที่เห็น ไม่ใช่การเก็บแบบซีล แต่เป็นการเก็บในสต็อก ไม่ใช่เก็บไว้เพื่อการบริโภค...ถามว่า ภาพที่ออกมาส่งผลกระทบต่ออะไรหรือไม่ ก็ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อคนในสังคม สภาพข้าวที่เก็บที่อยู่ในกระสอบ 10 ปี แล้วเก็บในโกดังมีผลต่อสภาพและคุณภาพข้าวแน่ๆ โดยเฉพาะปัญหา อย่างน้อย 3 เรื่องที่กล่าว คือ การใช้สารรมควัน , ความเสื่อมคุณภาพ ที่จะมีผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค ที่กินข้าวเสื่อมคุณภาพจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะคุณค่าทางสารอาหารที่ลดลง เพราะสารหลายตัวใช้ไปมันสะสม ล้าง 20 ครั้งก็ไม่ออก ไม่ใช่นำข้าวไปหุงแล้วจะสลายไป เพราะอีกครึ่งหนึ่งยังอยู่ในข้าว แม้ว่าจะมีการนำข้าวไปผสมหุงกับข้าวใหม่ก็ตาม”

ผู้อำนวยการไบโอไทย ทิ้งท้ายว่า หากรัฐบาลต้องการระบายข้าวโดยนำข้าวเก็บ 10 ปี มาขัดเพื่อแปรสภาพ แล้วนำไปจำหน่ายที่ประเทศอื่นๆ ตลาดอื่นๆ ภายนอก ก็อาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและความเชื่อมั่นในประเทศ หรือไม่เช่นนั้นจะมีผลกระทบระยะยาวตามมา จึงอยากขอให้รัฐบาลชี้แจงต่อประชาชนในทุกประเด็นที่มีการตั้งคำถาม และตอบทุกข้อสงสัยให้ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง