"ไขมัน" ถ้าเลือกกิน ยังไงก็ไม่อ้วนแถมได้สุขภาพดีอีกด้วย

ไลฟ์สไตล์
8 พ.ค. 67
19:33
322
Logo Thai PBS
"ไขมัน" ถ้าเลือกกิน ยังไงก็ไม่อ้วนแถมได้สุขภาพดีอีกด้วย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไขมันในอาหารแบ่งเป็นไขมันที่ดี และไขมันไม่ดี สสส.แนะเลือกกิน "ไขมันดี" ในปริมาณที่เหมาะสมจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แถมยังช่วยลดน้ำหนักได้อีกด้วย

ไขมันแยกออกเป็น ไขมันดี (HDL) และ ไขมันเลว (LDL) ซึ่งหมายถึงไขมันอิ่มตัวในเลือดประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า "คอเลสเตอรอล" ซึ่งคอเลสเตอรอลนี้มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ก็มีโทษเหมือนกันหากได้รับในปริมาณเยอะ ดังนั้นเราควรต้องรู้จักระมัดระวังการบริโภคอาหารประเภทไขมัน และการตรวจระดับไขมันความหนาแน่นสูง เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ 

ไขมันดี

ไขมันที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น กรดไขมันโอเมกา 3 ที่พบในปลา มีกรดไขมันหลัก ๆ 2 ตัว คือ EPA (Eicosapentaenoic Acid), DHA (Docosahexaenoic Acid) พบมากในปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาน้ำจืดบางชนิด

ประโยชน์ของไขมันดี

  • ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี (LDL-C)
  • ลดความหนืดของเลือด
  • ลดการอักเสบภายในร่างกาย
  • ลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง
  • DHA ช่วยเพิ่มเมตาบอลิซึมของ เซลล์ไขมันในร่างกาย โดยเฉพาะ บริเวณหน้าท้อง

อาหารเพิ่มไขมันดี

ถั่วและธัญพืช เช่น อัลมอนด์ ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ที่อุดมไปด้วยไขมันที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ ถั่วมีกากใยสูงและมีสารสเตอรอล ช่วยยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลในร่างกาย ส่วนธัญพืช เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต รำข้าว ยังช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ดี เสริมสร้างการทำงานของระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายให้ทำงานได้ดีขึ้น

ไข่ไก่ นอกจากจะเป็นแหล่งโปรตีนชั้นเยี่ยมแล้ว ไข่ไก่ยังมีกรดไขมันโอเมกา 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันดีที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ ไข่ไก่จึงเป็นอาหารที่เพิ่มไขมันชนิดดีในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เนื้อปลา จะมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี และช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี ซึ่งดีต่อสุขภาพของหัวใจ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ การทานเนื้อปลาจึงมีความจำเป็นต่อร่างกายเป็นอย่างมาก

ไขมันเลว

หรืออีกชื่อ "ไขมันทรานส์" เป็นกรดไขมันที่เกิดจากกระบวนการแปรรูป กรดไขมันชนิดทรานส์ Hydrogenated Oil Partially Hydrogenated Oil พบมากใน มาการีน เนยขาว ขนมขบเคี้ยวสำเร็จรูป อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารที่ทอดหรืออบนาน ๆ เค้ก คุ้กกี้ เบเกอรี่ ครีมเทียม วิปปิ้งครีม อาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ

โทษของไขมันทรานส์

  • เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน
  • เพิมการสะสมของไขมันในร่างกาย โดยเฉพาะไขมันที่หน้าท้อง
  • เพิ่มระดับไขมันตัวที่ไม่ดี (LDL-C) ลดระดับไขมันตัวทีดี (HDL-C)

อาหารที่ควรเลี่ยง

ของทอดในน้ำมัน มีไขมันทรานส์สูง เช่น ไก่ทอด เฟรนฟรายซ์ เนื่องจากมีแคลอรี่สูง มีทั้งไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ และคอเลสเตอรอลสูง ทำให้เสี่ยงเกิดโรคหัวใจได้ง่าย

อาหารสำเร็จรูป เป็นอาหารที่ผ่านการแปรรูปมา หากรับประทานมากเกินไปก็จะก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้ เกิดความดันโลหิตสูง ทั้งยังเพิ่มภาวะคอเลสเตอรอลสูงได้ด้วย

อาหารแปรรูป มีไขมันสูง มักพบในอาหารแปรรูปที่เป็นเนื้อแดงชนิดต่างๆ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว หรือเนื้อติดมันและติดหนัง หากรับประทานมากเกินไปจะส่งผลให้มีปริมาณคอเลสเตอรอลสะสมในร่างกายไม่เหมาะสม เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ มะเร็งลำไส้ 

แต่อย่างไรก็ตาม ไขมันอิ่มตัวก็ยังจำเป็นต่อการเจริญเติบโต ของเซลล์ต่างๆ ทั้งเซลล์สมอง กระดูก ผิวหนัง และเป็นส่วนประกอบของฮอร์โมนต่าง ๆ จึงควรบริโภค แต่ควบคุมในปริมาณจำกัด

วิธีดูแลตนเองหากมีไขมันเลว (LDL) เกินค่ามาตรฐาน

  • รับประทานยาลดไขมันตามคำสั่งแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสตอรอลสูง ไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์ เช่น เค้ก คุกกี้ ของทอด เนื้อสัตว์ติดมัน เนย มาการีน อาหารทะเล ไข่แดง เครื่องในสัตว์ และอาหารจานด่วน
  • รับประทานอาหารที่มีปริมาณใยอาหารสูง เช่น ข้าวกล้อง เมล็ดธัญพืช ผักใบเขียว และแอปเปิล
  • ลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ที่มา : สสส., All well health care, รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง