ชาวนาเรียกร้องทบทวนโครงการรับจำนำข้าว

ภูมิภาค
26 ก.ย. 54
01:47
8
Logo Thai PBS
ชาวนาเรียกร้องทบทวนโครงการรับจำนำข้าว

ตัวแทนชาวนา 11 จังหวัดภาคกลาง เตรียมยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ เพื่อเรียกร้องให้พิจารณาดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมา ก่อนที่จะเปิดรับจำนำข้าวเปลือกในวันที่ 7 ต.ค. เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย

นายประภัตร โพธสุธน แกนนำ และตัวแทนชาวนาอีก 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ปทุมธานี นครปฐม อุทัยธานี ฉะเชิงเทรา สิงห์บุรี กาญจนบุรี พิจิตร กรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภาเกษตร สมาคมชาวนาข้าวไทย กว่า 100 คน ต่างมารวมตัวกันที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อร่างหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยจะนัดรวมตัวกันไปยื่นหนังสือถึงรัฐบาลที่รัฐสภาในวันพรุ่งนี้ (27 ก.ย.) เพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบถึงปัญหาของชาวนาที่แท้จริง โดยเฉพาะโครงการประกันรายได้ ที่หลังจากการเลือกตั้ง และมีการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการช่วยเหลือเกษตรกร โดยเปลี่ยนเป็นโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในฤดูการผลิตปี 2554/55 แทน แต่ว่าก่อนหน้านี้เกษตรกรได้ขึ้นทะเบียนในโครงการประกันรายได้ไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.54 จนถึงปัจจุบัน โดยบางส่วนเกษตรที่ขึ้นทะเบียนไว้ได้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.54 ก่อนที่จะเปิดรับจำนำข้าวเปลือกในวันที่ 7 ต.ค.54 โดยชาวนาที่เก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงดังกล่าวใน 22 จังหวัด จำนวนเกือบ 300,000 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรกว่า 7 ล้านไร่ และผลผลิตรวมกว่า 5 ล้านตัน ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของรัฐบาล ซึ่งหากรัฐบาลจะใช้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกอาจทำให้เกิดปัญหาทุจริตได้ เนื่องจากผลผลิตข้าวไม่ได้อยู่ในมือชาวนาแล้ว ขณะที่ชาวนาก็ได้รับทราบข่าวว่า ทางหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกำลังจะออกใบรับรองให้แก่ชาวนาเพื่อเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกย้อนหลังให้ ตั้งแต่เดือน ส.ค.-ก.ย.54 ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการทุจริตกันอย่างมากมาย จึงขอให้รัฐบาลตรวจสอบการทำงานของทุกหน่วยงานให้ดี ก่อนดำเนินโครงการ
 
ขณะที่ในช่วงนี้ชาวนาบางส่วนที่ต้องเร่งเกี่ยวข้าวหนีน้ำท่วมก็ขายข้าวไม่ได้ราคา โดยจะขายข้าวได้ที่ตันละ 3,000-7,000 บาท และมีชาวนาบางรายได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมไปแล้ว ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ และยังไม่ได้รับการชดเชยจากรัฐบาลแต่อย่างใด
 
ทั้งนี้ตัวแทนชาวนาจะนัดรวมตัวกันไปยื่นหนังสือให้ถึงมือนายกรัฐมนตรีด้วยตัวเอง แต่ถ้าหากนายกรัฐมนตรีไม่มารับหนังสือที่ตัวแทนชาวนานำมายื่น ก็จะนัดรวมตัวกันเคลื่อนขบวนชาวนาบุกถึงทำเนียบรัฐบาลต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง