ในหลวงรับสั่งตั้งศูนย์บริการน้ำฯ 122 แห่ง บรรเทาความเดือดร้อนปชช.

สังคม
17 ก.ค. 58
05:20
76
Logo Thai PBS
ในหลวงรับสั่งตั้งศูนย์บริการน้ำฯ 122 แห่ง บรรเทาความเดือดร้อนปชช.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ จัดศูนย์บริการน้ำพระราชทาน 122 แห่ง ใน 53 จังหวัด บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ประสบภาวะภัยแล้ง

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ แจ้งว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ จัดศูนย์บริการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคพระราชทาน โดยร่วมกับสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดศูนย์บริการน้ำอุปโภคบริโภคพระราชทาน ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และสถานศึกษาในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 122 แห่ง ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก รวม 53 จังหวัด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนเป็นการเร่งด่วน เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้ (17 ก.ค.2558) เป็นต้นไป

ส่วนสถานการณ์การระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเริ่มดำเนินการลดการระบายน้ำตั้งแต่เมื่อวานนี้ ได้มีการลดการระบายน้ำรวม 2,000,000 ลูกบาศก์เมตร และจะทยอยลดการระบายลงเป็นระยะจนถึงวันที่ 21 ก.ค. จะลดการระบายเหลือ 18,000,000 ลูกบาศก์เมตร

ขณะที่นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงกระแสข่าวการปิดสถานีสูบน้ำกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ ว่าขณะนี้ได้มีการปิดสถานีสูบน้ำเฉพาะลุ่มเจ้าพระยา จำนวน 355 แห่ง ตลอดแนวฝั่งเจ้าพระยา 22 จังหวัดเท่านั้น และไม่ได้ดำเนินการปิดสถานีทุกลุ่มน้ำตามที่มีการเผยแพร่ข่าว ซึ่งที่ประชุมอนุกรรมการวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ จะร่วมหารือในวันที่ 20 ก.ค.นี้ หลังจากนั้นจะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการถึงมาตรการแก้ไขสถานการณ์น้ำแล้งในลุ่มเจ้าพระยา เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าจะมีน้ำกินน้ำใช้จนถึงปีหน้า (2559)

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงกรณีการห้ามสูบน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร ว่าขณะนี้ขอให้รอการประเมินของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งหากน้ำอุปโภคบริโภคมีเพียงพอ จะพิจารณาให้เกษตรกรสูบเข้าไร่สวนเป็นอันดับแรกและพื้นที่นาเป็นลำดับถัดไป เบื้องต้นจากการลงสำรวจพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ พบว่ามีเกษตรกรจำนวนไม่มากที่ยังคงสูบน้ำเข้าพื้นที่ โดยส่วนใหญ่มีความเข้าใจและรอการดำเนินการของรัฐบาล

ส่วนนายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวถึงสถานการณ์การผลิตน้ำประปา ว่าระหว่างนี้เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงถึงจุดรับน้ำดิบของ กปน. บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี พบว่าค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าความเค็มในน้ำดิบเกิน 0.5 กรัมต่อลิตร และอาจทำให้น้ำประปาในช่วงนี้มีรสชาติกร่อยเล็กน้อยในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ยืนยันว่าคุณภาพน้ำประปาในด้านอื่นๆ ยังได้มาตรฐานองค์การอนามัยโลกและสามารถดื่มได้อย่างปลอดภัย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง