จุฬาฯสรุปหาวิธีแก้กัดเซาะหาดพัทยา ใช้งบฯเจ้าท่า 387 ล้าน ฟันธง 8 เดือนได้หาดกว้างดูดนักเที่ยว 1.7 ล้านคน

ภูมิภาค
29 ก.ย. 54
10:17
13
Logo Thai PBS
จุฬาฯสรุปหาวิธีแก้กัดเซาะหาดพัทยา ใช้งบฯเจ้าท่า 387 ล้าน ฟันธง 8 เดือนได้หาดกว้างดูดนักเที่ยว 1.7 ล้านคน

เมื่อวันที่ 29 กันยายน อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ มีการสวนา “สรุปโครงการศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเพื่อเสริมทรายชายหาดพัทยา” ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้น โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล  อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย นายสมชาย สุมนัสขจรกุล ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรม    กรมเจ้าท่า นายรณกิจ  เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยา ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์  หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมงาน พร้อมด้วยคณะสื่อมวลชนและผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัย และข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าโครงการศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบพื้นที่ เพื่อเสริมทรายชายหาดพัทยา ขณะนี้ได้ศึกษาวิจัยเสร็จเรียบร้อยแล้วและเตรียมแหล่งทรายจากปากน้ำระยองจำนวน 369,035 ลบ.เมตร มาเติมทรายชายหาดพัทยาจนได้ความกว้าง 35 เมตร ด้วยงบประมาณ 387 ล้านบาท ได้ทำการศึกษาออกแบบและจัดวางขั้นตอนเสริมทรายเสร็จสมบูรณ์ อยู่ในขั้นตอนรอยื่นขออนุมัติผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อนเดินหน้าโครงการฯ เพื่อทำให้หาดพัทยาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีหาดทรายสวยงามที่สุดในภาคตะวันออก ดึงนักท่องเที่ยวกลับมาเพิ่มขึ้นกว่า 1.7 ล้านคน

“แนวทางแก้ไขการกัดเซาะชายฝั่งที่คณะนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการออกแบบและวิเคราะห์ผลกระทบในทุกด้านทั้งข้อดีและข้อเสียของทั้ง 4 แนวทางเลือกที่ได้เคยเสนอมีข้อสรุปจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่พัทยา คือให้ใช้รูปแบบการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายหาดพัทยาด้วยวิธีการเสริมทรายอย่างเดียวโดยไม่มีโครงสร้างใดๆ และจะดำเนินการเสริมทรายที่ชายหาดให้มีความกว้าง 35 เมตรเท่ากับความกว้างของหาดพัทยาในอดีต ออกแบบโดยใช้ถุงทรายทำจากใยสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติทนต่อแสงแดดทนต่อการกัดกร่อนของน้ำทะเลเพื่อเป็นแนวกันชน(Buffer Zone) ฝังไว้ใต้พื้นที่ทราย เพื่อป้องกันการกัดเซาะที่รุนแรงจากคลื่นลมที่ผิดปกติและช่วงที่มีพายุไต้ฝุ่นเข้าหาดพัทยา ระยะแนวกันชนได้ออกแบบไว้ห่างจากแนวกำแพงริมทางเดินชายหาดประมาณ 15 เมตร โครงการฯจะดำเนินการเสริมหาดทรายแนวหาดพัทยาทั้งสิ้นยาว 2,785 เมตร ตั้งแต่หาดพัทยาเหนือถึงหน้าหาดพัทยาใต้บริเวณทางเข้าวอล์คกิ้งสตรีท(walking street) โดยใช้ทรายในการดำเนินงานทั้งสิ้น 369,035 ลูกบาศก์เมตร งบประมาณทั้งหมดในการดำเนินการรวมแล้ว 387 ล้านบาท"

ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวว่าจากการวิเคราะห์หาดสมดุลจากแบบจำลองทางวิศวกรรมชายฝั่งของหาดพัทยาในกรณีหลังจากมีโครงการเสริมทรายชายหาดกว้าง 35 เมตร พบว่าการเปลี่ยนแปลงระดับชายหาดสมดุลและความกว้างชายหาดในกรณีต่างๆทั้ง น้ำขึ้นสูงสุดและลงต่ำสุด ชายหาดพัทยาจะใช้เวลาในการปรับสภาพเข้าสู่สมดุลใน 3 ปีแรก เมื่อผ่านปีที่ 3 ไปแล้วความกว้างชายหาดจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ผลวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงระดับชายหาดในแต่ละช่วงปีคือ ความกว้างชายหาดนับตั้งแต่แนวกำแพงริมทางเดินชายฝั่งถึงระดับน้ำทะเลหลังจากที่ชายหาดสมดุลแล้ว การเปลี่ยนแปลงชายหาดจะเป็นไปตามค่าระดับน้ำขึ้น-น้ำลงของอ่าวพัทยาโดยตรง นอกจากนั้นจากแบบจำลองแสดงให้เห็นว่าหลังจากที่ก่อสร้างโครงการเสริมทรายเสร็จ หาดพัทยาจะถูกกักเซาะด้วยอัตรา 0.8 เมตรต่อปี โดยในอีก 10-14 ปีข้างหน้าการกัดเซาะจะถึงแนวกันชนที่ได้สร้างไว้ จึงจำเป็นต้องมีการซ่อมแซมชายหาดด้วยวิธีการเสริมทรายใหม่ ทุกๆระยะเวลา 10-14 ปีในอนาคต อย่างไรก็ตามระยะเวลาการซ่อมแซมชายหาดในอนาคตอาจจะไม่ได้เป็นไปตามทฤษีเสมอไปซึ่งอาจจะเร็วกว่าที่กำหนดแค่ 5-7 ปีหากมีคลื่นลมทางตะวันตกที่รุนแรงผิดปกติเหมือน ปี 2553 หรือมีไต้ฝุ่นพัดเข้ามาเป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้ทำการเก็บตัวอย่างทรายบริเวณชายหาดพัทยาตั้งแต่พัทยาเหนือถึงพัทยาใต้ จำนวน 11 ตัวอย่างและแหล่งทรายจากสันดอนทรายปากแม่น้ำระยองมีการเก็บทั้งสิ้นจำนวน 42 ตัวอย่างและตัวอย่างแหล่งทรายจากการเจาะสำรวจเนินทรายนอกชายฝั่งอ่าวพัทยาจำนวนทั้งสิ้น 23 ตัวอย่าง พร้อมกับส่งตัวอย่างทรายทั้งหมดได้เข้าห้องปฎิบัติการเพื่อวิเคราะห์การคัดขนาดของตะกอน พบว่าแหล่งทรายจากปากแม่น้ำระยองมีการกระจายตัวของเม็ดตะกอนขนาดทรายหยาบถึงปานกลาง จากการวิเคราะห์ขนาดตะกอน Sand-Silt-Clay Fraction พบว่าทรายจากแหล่งปากน้ำระยองมีปริมาณทรายแป้งและเม็ดดินน้อยกว่า 3 % จึงความใกล้เคียงกับทรายชายหาดพัทยามากที่สุดน่าจะมีความเหมาะสมที่จะนำมาเสริมทรายในอนาคต อีกทั้งแหล่งทรายที่ได้เป็นทรายที่มีปริมาณมากในจังหวัดระยองและกำลังเป็นปัญหาของพื้นที่ จ.ระยองทำให้การนำมาใช้เติมที่หาดพัทยาจะช่วยลดปัญหาปริมาณทรายขวางทางน้ำได้อีกทางหนึ่ง 

ทั้งนี้ทางคณะผู้วิจัยได้มีการศึกษามาตราการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเสริมทรายชายหาดพัทยา และได้วางแนวทางไว้โดยขั้นตอนที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขณะนี้เตรียมให้ข้อมูลสรุปกับคนในพื้นที่ครั้งสุดท้ายในวันที่ 17 ตุลาคม ศกนี้ ก่อนที่จะส่งข้อมูลทั้งหมดให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หลังจากผ่านขั้นตอนแล้ว คาดว่า 8 เดือนสามารถดำเนินการและคืนพื้นที่ชายหาดให้กับหาดพัทยาได้ภายใน 8 เดือน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง