ผู้ว่าฯกทม.มั่นใจแนวคันกั้นน้ำรับมือน้ำท่วมได้

สังคม
1 ต.ค. 54
14:17
15
Logo Thai PBS
ผู้ว่าฯกทม.มั่นใจแนวคันกั้นน้ำรับมือน้ำท่วมได้

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยอมรับสถานการณ์น้ำในเจ้าพระยาในปัจจุบันน่าเป็นห่วง แต่มั่นใจว่าแนวคันกั้นน้ำของ กทม.ยังสามารถรับน้ำได้ กำชับทุกเขตเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง หากระดับน้ำสูงถึง 2.40 เมตรอาจต้องแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมอพยพ

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยม และติดตามสถานการณ์น้ำชุมชนสันติชนสงเคราะห์ ซึ่งอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ ขณะนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนแล้ว แม้สถานการณ์น้ำจะน่ากังวล แต่ยังไม่ถึงกับต้องตื่นตระหนก เนื่องจากปริมาณน้ำปีนี้ ยังถือว่าน้อย โดยวัดได้วันนี้อยู่ที่ 1.98 เมตร เมื่อเทียบกับปี 2553 ระดับน้อยกว่าประมาณ 1 คืบ

ขณะที่แนวป้องกันน้ำของ กทม.ยังสามารถรับน้ำได้ที่ระดับ 2.50 เมตร ดังนั้น ประชาชนที่อาศัยอยู่ในแนวคันกั้นน้ำ ยังไม่ได้รับผลกระทบ ถ้าระดับน้ำไม่ถึง 2.30 เมตร แต่น่าเป็นห่วง 27 ชุมชน ใน 13 เขต ที่ตั้งอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำอาจได้รับผลกระทบ เมื่อระดับน้ำสูงที่ 1.70 เมตร ซึ่ง กทม.ต้องการให้กรมเจ้าท่า และกระทรวงคมนาคมสั่งการให้เรือโดยสารชะลอความเร็ว เพื่อป้องกันผลกระทบกับประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองหลักต่างๆ

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครย้ำมาตรการการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม ริมคลองบางกอกน้อยว่า กทม.จะเร่งสร้างแนวคันกั้นน้ำในบ้านที่ยินยอมก่อน เพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งขณะนี้ยังมีประชาชนบางส่วนหรือประมาณ 9 หลังคาเรือน ไม่ต้องการให้มีการสร้างแนวคันกั้นน้ำ

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังลงพื้นที่ติดตามน้ำฝั่งเหนือของ กทม.บริเวณคลองเปรมประชากร จากการตรวจสอบระดับน้ำในคลองพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถควบคุมได้ แต่หากปริมาณน้ำมากขึ้น กทม. ก็เตรียมพร้อมอย่างเต็มศักยภาพ มีสถานีสูบน้ำตามคลองต่างๆ ช่วยลดและรักษาระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ นอกจากนี้ ยังเตรียมกระสอบทรายอีก 1.6 ล้านใบ เพื่อป้องกันน้ำท่วมเข้าพื้นที่ชั้นในไว้แล้ว ในอนาคตเตรียมก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ดอนเมือง เริ่มจากบริเวณสนามบินดอนเมืองลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ความยาว 17 เมตร เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ กทม.ฝั่งเหนือ

ด้านนายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวว่า ปริมาณน้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านประตูระบายน้ำบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ที่ 3,497 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณที่ กทม. รับได้ คือ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แม้ปริมาณน้ำจะเกินระดับ แต่ กทม.มีมาตรการระบายน้ำทั้งการสูบออก การสร้างแนวป้องกัน การพร่องน้ำ และอุโมงค์ยักษ์ ทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงมั่นใจได้ว่าแม้น้ำที่ไหลลงมาจะเกินระดับ หากอยู่ในแนวคันกั้นน้ำที่ระดับ 2.40 เมตรสามารถรับได้

ขณะที่นอกคันกั้นน้ำสูงที่ระดับ 1.70 เมตร อาจต้องแจ้งเตือนหรืออพยพประชาชนตามแผน ซึ่งในปัจจุบันยังไม่น่าเป็นห่วง และยังไม่ต้องมีการอพยพประชาชน แต่สถานการณ์น้ำคงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพราะเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่งกักเก็บน้ำเต็มหมดแล้ว ทั้งมีการคาดการณ์ว่าระหว่างวันที่ 4-5 ตุลาคมนี้ พายุไต้ฝุ่น "นาลแก" จะพัดเข้ามาอีก จึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง