ขอ "อปท." ทำฐานข้อมูลคนพิการ-ผู้สูงอายุ ก่อนอพยพ เพราะน้ำมา

26 ต.ค. 54
14:25
37
Logo Thai PBS
ขอ "อปท." ทำฐานข้อมูลคนพิการ-ผู้สูงอายุ ก่อนอพยพ เพราะน้ำมา

นายกสมาคมคนตาบอดชี้คนพิการยังเข้าไม่ถึงข้อมูลน้ำท่วมแนะรัฐให้ข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง เตือนคนพิการและผู้ดูแลคนพิการให้รีบอพยพเมื่อระดับน้ำยังไม่สูงมาก พร้อมเปิดสายด่วน 1414 ช่วยเหลือคนพิการโดยเฉพาะ ด้านคนทำงานเรื่องผู้สูงอายุแนะศูนย์อพยพดูแลเรื่องโรคประจำตัวและการเข้าถึงยาในการรักษาโรคให้ผู้สูงอายุ พร้อมเตือนความปลอดภัยในเรื่องอาหารเพราะผู้สูงอายุเสี่ยงท้องร่วงเยอะ

จากสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยยังเข้าขั้นวิกฤต โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่กำลังเข้าคิวน้ำจ่อทะลักโดยที่หลายชุมชนและหลายเขตไม่สามารถเตรียมตัวรับมือได้ทัน  ภาพการขนย้ายผู้ป่วยอย่างโกลาหลและการอพยพคนชราคนพิการและเด็กอย่างทุลักทุเลเป็นภาพที่เห็นตลอดเวลาที่มีข่าวกระแสน้ำท่วมเข้ากินทุกพื้นที่

               
ล่าสุดองค์กรที่ทำงานด้านคนพิการและผู้สูงอายุออกมาแสดงความเป็นกังวลถึงการดูแลกลุ่มคนเหล่านี้ พร้อมทั้งได้เสนอแนะวิธีการในการดูแลคนชราและคนพิการที่ต้องเสี่ยงภัยน้ำท่วม โดยนายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา และนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยได้ออกมาระบุว่า มีคนพิการจำนวนมากที่ต้องการการช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและเท่าเทียมจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปรกติคนพิการในแต่ละประเภทก็จะมีการใช้ชีวิตด้วยทักษะที่ต่างกัน อาทิ คนตาบอดก็จะมีวิถีชีวิตที่ใช้ประสาทสัมผัสและฟังเสียง ส่วนคนพิการที่นั่งวีลแชร์ก็จะใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่มีการปรับอย่างเหมาะสมสำหรับการใช้รถวีลแชร์ ส่วนคนพิการแขนขาก็จะมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเมื่อมีเหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นในหลายพื้นที่เช่นนี้ ทำให้คนพิการเหล่านี้ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก โดยสิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดสำหรับคนพิการคือการรับรู้ข่าวสารและข้อมูลอย่างทั่วถึง  ซึ่งข้อมูลที่คนพิการจะได้รับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมมีน้อยมาก

              
สมาชิกวุฒิสภาในฐานะนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยกล่าวว่า คนพิการและคนชราไม่ใช่ผู้ป่วย เพราะการที่รัฐจัดให้คนพิการและคนชราไปอยู่ในฐานะผู้ป่วยจะทำให้การเข้าถึงความช่วยเหลือของคนพิการและคนชราผิดพลาดและคลาดเคลื่อน ซึ่งขั้นตอนในการดูแลคนชราและคนพิการนั้นตนอยากให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าข่ายในการประสบภัยครั้งนี้สำรวจประชากรในชุมชนของตนเองว่ามีกี่คนบ้างที่เป็นคนพิการ และให้จดรายละเอียดบ้านเลขที่และลักษณะของความพิการของลูกบ้านตนเองให้ชัด เพราะเมื่อทีมช่วยเหลือจะเข้าไปช่วยเขาจะได้ประเมินได้ว่าจะต้องให้การช่วยเหลือแก่คนพิการในแต่ละประเภทอย่างไร คนพิการก็เหมือนกับทุกคนในสังคมคืออาจะมีดื้อบ้างและอยากจะอยู่ในบ้านของตนเองโดยไม่อยากย้ายออกไปจากบ้าน ในส่วนนี้ญาติจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและจะต้องทำความเข้าใจกับเขาว่าหากอยู่ในบ้านที่ต้องเสี่ยงกับสถานการณ์น้ำท่วมต่อไปเจ้าหน้าที่จะเข้ามาดูแลและช่วยเหลือได้อย่างยากลำบาก

              
 “ส่วนการดูแลที่ดีที่สุดสำหรับคนพิการ คือ ญาติหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องนำพาคนพิการออกมาอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัยจากน้ำท่วมให้ได้ เพราะหากยังปล่อยให้คนพิการยังอยู่ในสถานที่ที่มีน้ำท่วมอยู่จะเป็นโทษกับคนพิการเอง ตอนนี้มีศูนย์อพยพหลายที่ที่เจ้าหน้าที่รัฐได้เตรียมไว้ให้ผู้อพยพไปอาศัยอยู่ ซึ่งญาติจะต้องรีบเคลื่อนย้ายคนพิการก่อนที่ปริมาณน้ำจะขึ้นสูง เพราะเมื่อปริมาณน้ำขึ้นสูงแล้วการดูแลคนพิการก็จะยิ่งบากลำบาก อย่างไรก็ตามทางสมาคมของเราได้เปิดสายด่วนเพื่อช่วยเหลือคนพิการซึ่งผู้ประสบเหตุท่านใดที่เป็นคนพิการหรือมีญาติที่เป็นคนพิการสามารถโทรเข้ามาแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่เบอร์ 1414 และสายด่วนเบอร์ 084-703-2600 ซึ่งเราจะประสานความช่วยเหลือให้กับทุกกรณีที่แจ้งเข้ามา”นายมณเฑียรกล่าว

               
ด้านนายภพต์ เทภาสิต ประธานกลุ่มอาชีพอิสระคนพิการ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรีกล่าวว่า สถานการณ์ของคนพิการในจังหวัดนนทบุรีก็แย่ไม่แพ้ที่อื่นๆ เพราะอยู่ในเขตประสบภัยน้ำท่วมเช่นกัน  โดยเฉพาะคนพิการที่อยู่ในกลุ่มหลายคนล้วนพิการรุนแรงทั้งสิ้น ซึ่งทางกลุ่มได้มีการเฝ้าระวังและแจ้งข่าวกันตลอด ซึ่งคนพิการส่วนใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มได้ย้ายออกไปจากพื้นที่เพื่อไปอาศัยอยู่กับญาติที่ต่างจังหวัดที่ไม่ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว ซึ่งวิธีที่คนพิการหรือญาติที่มีคนพิการอยู่กับบ้านและรู้ว่าตนเองจะต้องประสบเหตุน้ำท่วมนั้นตนอยากให้ติดตามข่าวสารจากราชการอย่างใกล้ชิด และสร้างกันเป็นเครือข่ายในหมู่บ้าน ในชุมชน หรือในพื้นที่ และเมื่อเห็นสถานการณ์ไม่ค่อยจะดีแล้วต้องรีบส่งข่าวกันและต้องรีบช่วยกันอพยพคนพิการไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัยที่ห่างจากน้ำ เพราะไม่ว่าคนพิการจะหนีไปอยู่ชั้น 2 ของบ้านก็ยังอันตรายต่อการดำรงชีวิตต่อไปอยู่ดีเพราะสภาพแวดล้อมไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการดำเนินชีวิตแล้ว

               
ขณะที่น.ส.จิรพันธ์ บัวผัน พยาบาลวิชาชีพประจำเทศบาลนครรังสิตและผู้ประสานงานโครงการแผนพัฒนาผู้สูงอายุระดับท้องถิ่นของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)กล่าวว่า หลักการสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุเมื่อต้องเสี่ยงและพบเจอกับสถานการณ์น้ำท่วมไม่ต่างจากคนพิการ คือ ต้องนำผู้สูงอายุออกจากพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมและนำไปอยู่ที่ปลอดภัยให้ได้ ซึ่งจากสถิติของเทศบาลนครรังสิตนั้นมีผู้สูงอายุที่จะต้องดูแลมากถึง 6,000 คน ในขั้นตอนแรกของการทำงานคือเราได้ช่วยกันประเมินสถานการณ์น้ำและรีบแจ้งไปยังบ้านที่มีผู้สูงอายุ เด็ก และคนพิการให้ทำการเคลื่อนย้ายไปอยู่ยังที่ที่ปลอดภัยก่อน และหลังจากนั้นเราก็จะติดตามดูแลและรักษาตามโรค
               
พยาบาลวิชาชีพประจำเทศบาลนครรังสิตและผู้ประสานงานโครงการแผนพัฒนาผู้สูงอายุระดับท้องถิ่นของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)กล่าวว่า ส่วนใหญ่โรคที่ผู้สูงอายุจะเป็นกันมากคือโรคความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ ซึ่งแต่ละโรคนั้นขาดยาไม่ได้ ดังนั้นหลักสำคัญในการอพยพผู้สูงอายุ คือ จะต้องใกล้กับแหล่งที่ผู้สูงอายุจะต้องเข้าถึงการรักษาและรับยาได้ง่ายด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราเป็นกังวลมากที่สุดคือผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวไม่มีลูกหลานดูแล ซึ่งผู้สูงอายุเหล่านี้เราได้รับมาดูแลส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งก็กระจายออกไปตามค่ายอพยพต่างๆ  ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นที่ศูนย์อพยพและผู้ที่รับผู้สูงอายุไปดูแลต่อจะต้องดำเนินการ คือ การสอบถามถึงโรคประจำตัวของผู้สูงอายุในแต่ละคนเพื่อจะจัดสรรเรื่องการดูแลรักษาได้อย่างถูกต้องและทั่วถึง และที่สำคัญจะต้องระวังในเรื่องของอาหารการกินด้วยเพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะท้องร่วงและท้องเสียง่าย
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง