ประชุม ครม. 1 พ.ย.นี้ หารือบริหารจัดการน้ำ-ฟื้นฟูหลังน้ำลด

การเมือง
31 ต.ค. 54
13:44
5
Logo Thai PBS
ประชุม ครม. 1 พ.ย.นี้ หารือบริหารจัดการน้ำ-ฟื้นฟูหลังน้ำลด

ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยหรือ ศปภ. หารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น เพื่อวางแนวทางบรรเทาปัญหาอุทกภัย ขณะที่นายกรัฐมนตรี ยืนยันมวลน้ำก้อนใหญ่ถูกระบายลงสู่ทะเลแล้ว พร้อมย้ำว่าสถานการณ์น้ำกำลังเข้าสู่ภาวะที่ดีขึ้น โดยวันพรุ่งนี้ ครม.จะหารือแผนบริหารจัดการน้ำ และ เตรียมแผนฟื้นฟูหลังน้ำลด

การประชุมครม. ในวันพรุ่งนี้ ( 1 พ.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อหารือแผนบริหารจัดการน้ำ พร้อมกับมาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า สถานการณ์น้ำหลังจากวันนี้ ( 31 ต.ค.) ไปจะวางใจได้ในระดับหนึ่ง โดยสังเกตได้จากปริมาณน้ำจากจังหวัดนครสวรรค์ และ ชัยนาทที่ลดลง

มีรายงานว่า ศปภ.ได้ประเมินสถานการณ์น้ำวันนี้โดยประมวลจากปริมาณน้ำก้อนแรกที่ถูกระบายออกจากเขื่อน 3 เขื่อนรวม 11,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และ มวลน้ำอีกก้อนประมาณ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตรได้ไหลหลากลงมายังจังหวัดต่าง ๆ และ เข้าสู่กรุงเทพมหานครแล้ว 

แต่สามารถระบายลงสู่ทะเล ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก เฉลี่ยวันละ 550 ล้านลูกบาศก์เมตร และนับรวมทั้งหมดระบายได้ไม่น้อยกว่า 9,900 ล้านลูกบาศก์เมตรแล้ว ที่เหลืออีก 5,500 ล้านลูกบาศก์เมตรนั้น กรมชลประทาน กระทรวงเกษตร และ สหกรณ์ จะเสนอแผนบริหารจัดการน้ำเข้า ครม.ในวันพรุ่งนี้ 

โดยวางกรอบเร่งระบายให้แล้วเสร็จภายใน 10 วันนับจากวันพรุ่งนี้เป็นต้นไป เนื่องจากน้ำทะเลจะลดต่ำลงเรื่อย ๆ ในช่วง 10 วันนี้ และจะเริ่มหนุนสูงขึ้นอีกครั้งในวันที่ 10 พ.ย.โดยจะหนุนสูงสุดในวันที่ 13 พ.ย.นี้

ขณะที่ช่วงเย็นที่ผ่านมานายเซอิจิ โดจิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พร้อมผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น 8 คน เข้าหารือกับ ศปภ. เพื่อวางแนวทางการช่วยเหลือบรรเทาภัยในหลายด้าน เช่นการดูแลระบบน้ำประปา รถไฟฟ้าใต้ติน และ การแก้ปัญหาท่าอากาศยาน รวมกถึงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในอนาคต

ขณะเดียวกันมีความคืบหน้าจากพรรคประชาธิปัตย์โดยนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงยืนยันว่าพรรคกำลังทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร ด้วยการรวบรวมข้อมูลการบริหารจัดการน้ำและข้อบกพร่องในการแก้ปัญหาของรัฐบาล

โดยเบื้องต้นเสนอให้นายกรัฐมนตรีทบทวนจุดอ่อนและเร่งแก้ไข ด้วยการเลือกผู้ที่มีความรู้ มีประสบการณ์เข้ามาแก้ปัญหา และย้ำให้นายกฯใช้อำนาจตัดสินใจแก้ปัญหา แทนการทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ประสานงาน ที่สำคัญควรทบทวนการเข้ามาแทรกแซงการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะ ส.ส.ซึ่งเป็นอดีตกลุ่ม นปช.



ข่าวที่เกี่ยวข้อง