เตือน...ระวัง “น้ำกัดเท้า” ในช่วงน้ำท่วม

สังคม
2 พ.ย. 54
18:17
51
Logo Thai PBS
เตือน...ระวัง “น้ำกัดเท้า” ในช่วงน้ำท่วม

ที่แผลน้ำกัดเท้ากำเริบมาก มีอาการอักเสบ ปวด กดเจ็บมาก บวม แดงร้อน มีน้ำเหลืองน้ำหนองไหลมาก หรือมีผิวแดงลุกลามแพร่กระจายเป็นวงกว้าง

นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร  แพทย์โรคผิวหนัง  กล่าวว่า โรคผิวหนังที่พบบ่อยในภาวะน้ำท่วมคือโรคน้ำกัดเท้าและโรคเชื้อราที่เท้า  โรคน้ำกัดเท้าในช่วงแรกเกิดเพราะเท้าที่แช่น้ำนาน  ๆ  น้ำจะทำให้ผิวหนังเปื่อยยุ่ย ลอกเป็นแผ่น ทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ ที่ปะปนอยู่กับสิ่งสกปรกในน้ำเข้าสู่รอยแผลเปื่อย แผลจึงอักเสบ บวม มีหนอง อาจเจ็บระบมที่เท้า ร่วมกับมีไข่ดันที่ขาหนีบบวมโต  บางครั้งอาจเป็นไข้ 

โรคน้ำกัดเท้านี้อาจพบร่วมกับโรคเชื้อราที่เท้า ทั้งนี้เพราะเชื้อราที่เท้าทำให้ผิวหนังลอกเปื่อยยุ่ยอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ยิ่งเกิดภาวะน้ำกัดเท้าได้ง่ายขึ้น  หรือบางครั้งเชื้อราที่เท้าเกิดจากเมื่อต้องเดินย่ำน้ำไปมาจนเท้าชื้นแฉะ ทำให้เชื้อราขยายตัวแพร่พันธุ์จนเกิดโรคเชื้อราที่เท้าได้  การติดเชื้อราที่เท้ามักเห็นเป็นผื่นเปียกยุ่ยสีขาวที่ง่ามนิ้วเท้า บางทีมีผื่นแดงมีขุยลอกที่ฝ่าเท้า หากติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนก็จะเกิดเป็นหนอง  บางคนเป็นเชื้อราที่เท้า แต่จะเกิดภูมิแพ้เป็นผื่นคันหรือเห่อเป็นตุ่มน้ำที่มือหรือที่ตำแหน่งอื่น ๆ ของร่างกาย  ยังพบโรคติดเชื้อราที่ขาหนีบ หรือ "สังคัง" มักติดเชื้อมาจากที่เท้า เมื่อสวมกางเกงในจะทำให้ติดเชื้อจากเท้าไปขาหนีบ มีอาการคันมาก
    
ข้อแนะนำทั่วไปสำหรับป้องกันโรคน้ำกัดเท้าและโรคเชื้อราที่เท้าคือ  ถ้าเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่ไม่จำเป็น  หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรใช้รองเท้าบูทชนิดยางกันน้ำ  ก่อนย่ำน้ำให้ใช้ขี้ผึ้งวาสลิน  (vaseline) ซึ่งเป็นขี้ผึ้งสีขาวขุ่น ๆ เป็นมัน ทาที่เท้า และตามง่ามนิ้วเท้า จะช่วยป้องกันไม่ให้ผิวเปียกน้ำ ลดน้ำกัดเท้าได้ หากไปย่ำน้ำสกปรกมาควรล้างเท้าด้วยสบู่และน้ำเปล่าจนสะอาด ซับเท้าให้แห้ง  อาจใช้แป้งฝุ่นสำหรับโรยตัว โรยที่เท้าและซอกเท้า 

หากมีบาดแผลให้ใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผล แล้วทาด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเช่น ทิงเจอร์เบตาดีน  ส่วนการป้องกันโรคเชื้อราที่ขาหนีบ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าสังคังนั้น ไม่ควรสวมใส่กางเกงหนา บางคนชอบนุ่งกางเกงยีนส์ ผ้ายีนส์จะแห้งยากมาก หลังย่ำน้ำถ้ามีผิวหนังเปื่อย โดยเฉพาะที่ง่ามนิ้วเท้า อาจเป็นเชื้อราที่เท้า ให้ใช้ขี้ผึ้งขจัดเชื้อรา เช่นขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield's ointment) หรือยาทาฆ่าเชื้อราตัวอื่นเช่นคีโตโคนาโซล (ketoconazole), ไมโคนาโซลครีม (miconazole), โคลไตรมาโซล (clotrimazole), และทอลนาฟเทต (tolnaftate) 

การใช้ยาทาฆ่าเชื้อราอาจต้องทาต่อเนื่องนานเป็นเดือน  แต่ก็ควรระวังเพราะยาทาบางตัวเช่น ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ มีฤทธิ์ทำให้ผิวลอก  หากนำมาใช้ขณะน้ำกัดเท้าอาจยิ่งก่อให้เกิดการระคายเคือง เจ็บแสบ และผิวถลอกมากขึ้น  หากใช้ยาทาฆ่าเชื้อราไม่หาย ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพราะอาจต้องรับประทานยาแทน  ซึ่งบางตัวเป็นอันตรายต่อตับ 
    
ในกรณีที่แผลน้ำกัดเท้าลอกมาก มีการอักเสบ มีน้ำเหลืองไหล อาจต้องล้างแผลหรือแช่แผลไปพลางๆ ก่อน โดยอาจใช้วิธีการแช่เท้าโดยใช้น้ำด่างทับทิม โดยใช้เกร็ดด่างทับทิม  2-3 เกร็ดละลายน้ำให้ได้สีชมพูจางๆ  แช่อย่างน้อย 15 นาที หรือใช้ยาใส่แผลโพวิโดน  ไอโอดีน (povidone iodine) 8 หยด ผสมน้ำประมาณ 1 ลิตรคือ 1,000 ซีซี หรือใช้การประคบเท้าที่มีแผล โดยใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดชุบน้ำด่างทับทิมหรือน้ำเกลืออ่อน ๆ  โปะทิ้งไว้ตั้งแต่ผ้ายังเปียกทิ้งไว้นานจนผ้าหมาดหรือใกล้จะแห้งจึงเอาผ้าออก ทำเช่นนี้ซ้ำบ่อย ๆ จะช่วยลดอาการอักเสบน้ำเหลืองไหลลงได้  การทำน้ำเกลือง่าย ๆ คือใช้เกลือ 1/2 ช้อนชาผสมในน้ำอุ่น 1 ถ้วย (คือใส่เกลือ 2.5 กรัมลงในน้ำอุ่น 1/4 ลิตรหรือ 250 ซีซี) แล้วคนให้เกลือละลาย
    
กรณีที่แผลน้ำกัดเท้ากำเริบมาก  มีอาการอักเสบ ปวด กดเจ็บมาก บวม แดงร้อน มีน้ำเหลืองน้ำหนองไหลมาก หรือมีผิวแดงลุกลามแพร่กระจายเป็นวงกว้าง  ไข่ดันบวมมาก มีไข้สูง หรือผิวกลายเป็นเนื้อตายสีดำ หรือกดแล้วได้ยินเสียงกรอบแกรบ  อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน  ซึ่งบางชนิดอาจรุนแรงถึงชีวิต โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่นโรคเบาหวานอยู่แล้ว  ควรต้องไปพบแพทย์เพราะอาจต้องได้ยารับประทานปฏิชีวนะที่เหมาะสม  หรือในรายที่เป็นมากอาจต้องได้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ หรือต้องให้ศัลยแพทย์ผ่าตัดเนื้อตายออกโดยเร็ว
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง