ศปภ.ขอหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะตัดสินใจงดเก็บค่าทางด่วนอีกครั้ง

สังคม
22 พ.ย. 54
01:35
7
Logo Thai PBS
ศปภ.ขอหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะตัดสินใจงดเก็บค่าทางด่วนอีกครั้ง

ศปภ.มีมติเปิดประตูระบายน้ำในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีตามที่มีข้อเรียกร้อง แต่ต้องขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการรับน้ำของแต่ละคลอง ขณะที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยืนยันว่า ยังไม่สามารถเปิดประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนาเพิ่มได้ถึง 1 เมตร

นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง การดำเนินงานระบายในพื้นที่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ของกรมชลประทาน โดยระบุว่า หลังจากที่กรมชลประทานได้ใช้มาตรการต่าง ๆ ทั้งการลดปริมาณน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา และประตูระบายน้ำบรมธาตุ และประตูระบายพลเทพ จังหวัดชัยนาท ได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งการใช้เครื่องสูบน้ำถาวรร่วมกับการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำและเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม ทำให้สถานการณ์น้ำในพื้นที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

และในช่วงต่อจากนี้กรมชลประทานจะเสริมมาตรการย่อย คือจะเข้าไปดำเนินการสนับสนุนการสูบน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ เช่น เทศบาลปทุมธานี ตลาดรังสิต บางกรวย บางใหญ่ บางบัวทอง และไทรน้อย โดยขณะนี้ได้เข้าไปติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่และเสริมความแข็งแรงของแนวคันกั้นน้ำตามที่ได้รับการประสานจาก จังหวัดนนทบุรีและปทุมธานีแล้ว คาดว่า หลังจากนี้สถานการณ์น้ำจะดีขึ้นเรื่อย ๆ

ในภาพรวม คาดว่า ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ถนนสายหลักด้านตะวันตกจะเริ่มสัญจรได้เพิ่มขึ้น ประชาชนจะสามารถเข้าไปอยู่อาศัยได้ ส่วนพื้นที่ที่เป็นที่ลุ่มต่ำ น้ำก็จะเริ่มลดลงตามลำดับ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ระบุว่า หากทุกส่วนทั้งกรุงเทพมหานคร และกรมชลประทานดำเนินการได้ตามที่วางแผนไว้ น้ำน่าจะแห้งภายในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ โดยขณะนี้ทางฝั่งตะวันตกที่กรุงเทพมหานครดูแลอยู่ ได้มีการเสริมเครื่องสูบน้ำจำนวน 40 เครื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ

ส่วนข้อเรียกรองในการเปิดประตูระบายน้ำของชาวนนทบุรี ซึ่งได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อตัวแทนศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ขณะนี้กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการเปิดประตูระบายน้ำตามข้อเรียกร้องแล้ว 3 ประตู คือ ประตูระบายน้ำบางพลัด และบางบำหรุ เปิดสูง 50 เซนติเมตร และเปิดประตูน้ำบางอ้อ 60 เซนติเมตร และยังได้ปล่อยให้น้ำไหลผ่านในลักษณะฝายน้ำล้น

ขณะที่ประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนา ที่ชาวนนทบุรี เรียกร้องให้เปิดขึ้นถึง 1 เมตร จากขณะนี้ที่เปิดอยู่แล้ว 50 เซนติเมตร เป็นเรื่องที่กรุงเทพมหานคร ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากหากเปิดตามข้อเรียกร้องจะต้องรับน้ำไหลเข้าถึงวันละ 1,600,000 ลูกบาศก์เมตร จากที่รับน้ำอยู่ในขณะนี้ 6-7 แสนลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการระบายน้ำฝั่งตะวันตก หรือ ฝั่งธนบุรี ที่จะซ้ำเติมให้สถานการณ์น้ำหนักหนามากขึ้น

ส่วนประตูระบายน้ำคลองมหาสวัสดิ์ และ คลองภาษีเจริญ ซึ่งเป็นส่วนรับผิดชอบของกรมชลประทาน ขณะนี้กำลังเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีน แต่ยังพบว่าการระบายน้ำยังทำได้ไม่รวดเร็วมากนัก ซึ่งกรณีนี้ รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินทร มองว่า ปัญหาเกิดจากคลองมีระยะทางยาว และ แคบลง และส่วนใหญ่มีน้ำล้นท่วมพื้นที่อยู่แล้ว การจะรับน้ำเพิ่มมากขึ้นจึงต้องมีการสูบน้ำช่วยมากขึ้น

ด้าน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. ระบุ ภายหลังการประชุมร่วมกับข้าราชการจังหวัดนนทบุรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยระบุว่าที่ประชุมมีมติให้เปิดประตูระบายน้ำตามข้อเรียกร้องได้ โดยจะเปิดตามประสิทธิภาพของแต่ละคลอง เพื่อไม่ให้กระทบกับพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยได้ประสานไปยังกรุงเทพมหานคร และกรมชลประทาน เพื่อขอให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณคลองสำคัญที่จะระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะคลองพระอุดม และคลองบางกรวย

ส่วนกรณีที่ประชาชนเรียกร้องให้ขยายเวลางดเก็บค่าผ่านทางพิเศษทั้งทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ และ ทางพิเศษสายอื่นๆ เนื่องจากถนนวิภาวดีรังสิตและอีกหลายจุดในพื้นที่ กทม.ยังคงมีน้ำท่วมสูงการใช้ทางพิเศษจึงเป็นช่องทางในการเดินทางที่ดีที่สุดในขณะนี้ซึ่งเบื้องต้นได้รับแนวคิดนี้ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่สามารถสรุปได้เพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการชดเชยให้บริษัทที่รับผิดชอบ เพราะที่ผ่านมา ศปภ.เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เอง
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง