ภาพยนตร์อิหร่านสะท้อนความกดดันของชาติ

Logo Thai PBS
ภาพยนตร์อิหร่านสะท้อนความกดดันของชาติ

ผู้สร้างภาพยนตร์อิหร่านไม่น้อยใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อสะท้อน ชีวิตที่ตกอยู่ใต้ความกดดันภายใต้สังคมที่เต็มไปด้วยข้อบังคับที่คนในชาติต้องเผชิญในเวลานี้ แม้จะถูกแทรกแซงการทำงานอย่างต่อเนื่อง

ภาพยนตร์เรื่อง Dog Sweat ที่ทีมงานต้องลักลอบถ่ายทำในกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน แล้วนำลงฮาร์ดดิสก์เพื่อนำออกนอกประเทศโดยไม่ผ่านการอนุมัติจากทางการอิหร่าน และนำภาพยนตร์เรื่องนี้มาฉายในสหรัฐฯ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยนำเสนอเรื่องราวสองเกย์หนุ่มที่รักกันแต่ถูกบังคับให้แต่งงานกับผู้หญิง คู่รักหนุ่มสาวไม่อาจพบกันตามลำพังได้จนกว่าจะแต่งงาน หรือนักร้องสาวที่ไม่สามารถสานฝันในวงการเพลงได้เพียงเพราะเธอเป็นหญิง คือสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมอิหร่าน
ทั้งนี้ ฮุสเซน เคชาวาร์ซ ผู้กำกับ เปิดเผยว่าเนื้อหาที่พบได้ในหนังที่ฉายในอิหร่านไม่มีสิ่งใดสะท้อนสภาพชีวิตที่เป็นจริงของหนุ่มสาวเปอร์เซีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน อย่างการนั่งดื่มสังสรรค์ของเพื่อนฝูง โดยรัฐบาลต้องการเพียงหนังที่สะท้อนอุดมคติที่ไม่มีอยู่จริง
 
ปัจจุบันอิหร่านมีประชากรกว่า 80 ล้านคน ร้อยละ 70 คือหนุ่มสาวอายุต่ำกว่า 35 ปี ทำให้สังคมยุคใหม่ของอิหร่านเต็มไปด้วยมิติที่หลากหลาย โดยเฉพาะประเด็นทางเพศที่สะท้อนในผลงาน มิเรียม เคชาวาร์ซ อย่าง Circumstance กับการเดินทางเพื่อแสวงหาอิสรภาพในการดำเนินชีวิตตามใจปรารถนาของสองสาวคู่รักเลสเบี้ยน เนื่องจากเป็นประเด็นต้องห้ามในอิหร่าน ทำให้ผู้กำกับหญิงต้องไปถ่ายทำในประเทศเลบานอน แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับประสบความสำเร็จในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ ด้วยการคว้ารางวัล Audience Award เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
 
แม้แต่คู่สามีภรรยาก็ต้องพบกับปัญหาเมื่อต้องการหย่าร้างในอิหร่าน เช่นในเรื่อง A Separation ของ อัสการ์ ฟาฮาดี เมื่อสามีภรรยาต้องการแยกทางแต่ศาลกลับไม่อนุญาตให้หย่า เพราะเหตุผลที่ฝ่ายหญิงต้องการไปใช้ชีวิตใหม่ยังต่างประเทศ เรื่องราววุ่นวายมากมายตามมาหลังจากนั้น อันเนื่องมาจากข้อบังคับของรัฐที่ควบคุมผู้หญิงภาพยนตร์ที่ไม่ได้รับการสนับ สนุนจากรัฐบาลแต่สะท้อนความกดดันในสังคมยุคใหม่ของอิหร่านได้อย่างดีเรื่อง นี้ สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศด้วยการคว้ารางวัลทั้งหมีทองคำจนถึงรางวัล BBC world cinema award เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
 
ความโดดเด่นของภาพยนตร์จากอิหร่านช่วงไม่กี่ปีนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการแทรกแซงสื่อที่รัฐบาลพยายามมาหลายปี ไม่อาจทดทอนแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานของผู้สร้าง ในการใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อสะท้อนปัญหาที่เพื่อนร่วมชาติกำลังประสบอยู่ในเวลานี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง