อินโดนีเซีย-ไทย คู่ชิงเหรียญทองสนามซีเกมส์ คู่ค้า-คู่ชิงการผลิตยานยนต์ของภูมิภาค

เศรษฐกิจ
23 พ.ย. 54
16:54
16
Logo Thai PBS
อินโดนีเซีย-ไทย คู่ชิงเหรียญทองสนามซีเกมส์ คู่ค้า-คู่ชิงการผลิตยานยนต์ของภูมิภาค

การแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 26 ระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน ณ กรุงจาการ์ตา เกาะชวา และเมืองปาเลมบัง เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นที่แน่นอนว่าอินโดนีเซียเป็นเจ้าเหรียญทองในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งนี้ แต่การชิงชัยในการเป็นฐานผลิตยานยนต์ของภูมิภาคยังคงต้องจับตา เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยและของอินโดนีเซียต่างเชื่อมโยงกันด้วยเครือข่ายการผลิตของนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งในระยะปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอินโดนีเซียอยู่ในสถานะคู่ค้ามากกว่าการเป็นคู่แข่ง ด้วยโครงสร้างการผลิตของไทยกับอินโดนีเซียที่มีความแตกต่างกันทำให้ทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอินโดนีเซียที่ขยายตัวน่าจะช่วยกระตุ้นให้ความต้องการชิ้นส่วน/ส่วนประกอบยานยนต์จากไทยเพิ่มขึ้นตามไปด้วยในลักษณะของการเป็นคู่ค้าที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในด้านตลาดส่งออกทั้งของไทยและอินโดนีเซียจะมีตลาดที่ใกล้เคียงกัน แต่สินค้าที่ส่งออกก็ยังมีความแตกต่างกัน

ในระยะต่อไปที่ต้องจับตา ด้วยรัฐบาลอินโดนีเซียวางเป้าหมายให้การผลิตยานยนต์ของอินโดนีเซียเป็นผู้นำในอาเซียน ซึ่งแรงส่งหลายด้านก็น่าจะมีส่วนทำให้การผลิตของอินโดนีเซียเติบโตมากขึ้นในอนาคต ถึงแม้ว่าอินโดนีเซียจะมีอุปสรรคที่สร้างความวิตกกังวลให้แก่นักลงทุนหลายด้าน อาทิ ขาดแคลนแรงงานมีฝีมือที่สามารถทำการผลิตได้หลากหลายและซับซ้อน ขาดแคลนภาคการชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอินโดนีเซียที่ปัจจุบันยังต้องเร่งพัฒนา รวมทั้งความไม่สะดวกด้านระบบการขนส่งภายในประเทศและการขนส่งเพื่อการส่งออก  เป็นต้น ซึ่งหากทางการอินโดนีเซียสามารถลดอุปสรรคดังกล่าวได้เป็นผลสำเร็จก็จะยิ่งช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการผลิตยานยนต์ของอินโดนีเซียทำให้รองรับการลงทุนได้อย่างเต็มศักยภาพ ชักจูงนักลงทุนขยายการลงทุนในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ที่จะเข้ามาในอาเซียนให้ตัดสินใจเลือกลงทุนในอินโดนีเซีย นั่นก็อาจสั่นคลอนความเป็นหนึ่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอาเซียนได้เช่นกัน
 
 ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญในระยะต่อไป สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และภาครัฐของไทย คือ การรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุนเพราะจากกรณีอุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยและกระทบโดยอ้อมไปยังตลาดต่างประเทศมิใช่น้อย โดยเฉพาะในอาเซียนที่ต้องเผชิญภาวะชะงักงันทางการผลิต เพราะต้องพึ่งพาชิ้นส่วน/ส่วนประกอบยานยนต์จากไทยเพื่อเดินสายการผลิตต่อไป  ประกอบกับต้นทุนการผลิตในไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาทิ ค่าจ้างแรงงาน ก็มีส่วนกระตุ้นให้นักลงทุนเริ่มแสวงหาแหล่งลงทุนในประเทศอื่นๆเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งอินโดนีเซียก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจด้วยตลาดเฉพาะอินโดนีเซียก็ใหญ่กว่าไทยถึง 3 เท่าตัว และยังมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าไทยด้วย (ไทย 10 ดอลลาร์ฯ/วัน, อินโดนีเซีย 8 ดอลลาร์ฯ/วัน)

โดยภาครัฐบาลไทยควรมีบทบาทสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ในการสร้างความได้เปรียบเชิงต้นทุนการผลิต ให้การอุดหนุนภาคอุตสาหกรรม เร่งสร้างเสริมศักยภาพแรงงานและจำนวนแรงงานมีฝีมือ รวมไปถึงการสร้างความมั่นคงทางการเมือง การช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมกรณีเกิดภัยธรรมชาติ และหาทางป้องกันไม่ให้ซ้ำรอยเดิมหรือสร้างความเสียหายให้น้อยที่สุด ก็จะช่วยให้เสริมสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการลงทุนและรั้งให้นักลงทุนต่างชาติยังคงยึดมั่นให้ไทยเป็นฐานการผลิตต่อไป สำหรับในส่วนของผู้ประกอบการก็ควรเตรียมความพร้อมรักษาความเป็นแรงงานมีฝีมือและเทคโนโลยีให้โดดเด่นเหนือคู่แข่งในอาเซียนควบคู่ไปด้วย
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง