กระทรวงอุตฯ เตรียมเสนอนายกฯ วางแผนระยะยาวป้องกันนิคมอุตสาหกรรม พ้นน้ำท่วม

เศรษฐกิจ
5 ธ.ค. 54
16:54
11
Logo Thai PBS
กระทรวงอุตฯ เตรียมเสนอนายกฯ วางแผนระยะยาวป้องกันนิคมอุตสาหกรรม พ้นน้ำท่วม

นักลงทุนห่วงธุรกิจ-แรงงาน เผชิญปัญหาเลิกจ้าง หลังพบธุรกิจขนาดเล็ก ต้านกระแสน้ำท่วมไม่ไหว จนต้องเลิกหรือย้ายฐานธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรม

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นิคมอุตสาหกรรมนวนคร และ นิคมบางกระดี จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2554 ว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ครั้งถัดไป จะมีการหารือถึงความสูญเสียทางด้านภาษีที่ใช้ในมาตรส่งเสริมและฟื้นฟูอุตสาหกรรม ประกอบกับ การสนับสนุนให้นิคมอุตสาหกรรมต่างๆสร้างแนวป้องกันอุทกภัย โดยได้รับการสนับสนุนพิเศษ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในรายละเอียดต่อไป  นอกจากนี้ จะมีการหารือร่วมกันระหว่างระทรวงอุตสาหกรรมกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการวางแผนระยะยาวในการป้องกันนิคมอุตสาหกรรมและสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนในการประกาศการรับรองว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอีก

 "ตั้งแต่เกิดปัญหาอุกทกภัยจนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีนักลงทุนใดขอย้ายฐานการลงทุนออกนอกประเทศ" นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าว

 นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยที่เกินขึ้นในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้นิคมอุตสาหกรรมต่างๆได้รับผลกระทบจำนวน 7 แห่งทั่วประเทศ โดยล่าสุดนิคมอุตสาหกรรมต่างๆหลายแห่งสามารถพร้อมดำเนินการผลิตได้ตามปกติ อาทิ นิคมอุตสาหกรรมแฟคเตอรี่แลนด์ สามารถดำเนินการผลิตได้ 70 โรง จาก 93 โรง นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน สามารถดำเนินการผลิตได้ 6 โรง นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค สามารถดำเนินการผลิตได้ 5 โรง และนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ สามารถดำเนินการผลิตได้ 2 โรง

 "คาดว่าโรงงานต่างๆในนิคมอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 นิคมฯ ทั่วประเทศ จะสามารถเริ่มต้นการผลิตได้ในช่วงเดือนมกราคมนี้" นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าว

 นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวว่า ล่าสุดกองทัพภาคที่ 1 โดยกองพลพัฒนาที่ 1ได้ทำการคืนพื้นที่ความรับผิดชอบในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครให้กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2554  หลังจากที่ได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรม ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 โดยใช้ระยะเวลาจำนวน 13 วันในการดำเนินการ ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่มีการกำหนดให้แล้วเสร็จในวันที่ 10 ธันวาคม 2554

 นางกรกฎ รัศมี ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม 4 สหรัตนนคร กล่าวว่า การดำเนินการฟื้นฟูหลังน้ำลดได้มีการดำเนินการควบคู่กันไปกับการเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ โดยการช่อมบำรุงเครื่องจักร แก้ไขฟื้นฟูระบบระบายน้ำภายในบริเวณนิคมฯ สำหรับแผนระยะยาวนิคมจะมีการก่อสร้างทางระบายน้ำ (ฟลัดเวย์) ภายในนิคมฯ และ การทำแนวป้องกันอุทกภัยความยาว 8 กิโลเมตร โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณ 240 ล้านบาท หรือ กิโลเมตรละ 30 ล้านบาท โดยจะมีการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

 "ขณะนี้โรงงานต่างๆภายในนิคมฯได้มีการทำความสะอาดเพื่อเตรียมการดำเนินการผลิต โดยคาดว่าในช่วงต้นเดือนมกราคม หรือ 1 เดือนต่อจากนี้โรงงานต่างๆจะสามารถกลับมาเดินเครื่องได้เต็มที่" นางกรกฎ กล่าว

 พลเอกชัยณรงค์ หนุนภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการประชุมกันระหว่างนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่งที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และ ตัวแทนผู้ประกอบการในนิคมต่างๆ มีความต้องการให้ รัฐบาลสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติในระบบบริหารจัดการน้ำในอนาคต และ การป้องกันนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ

 นอกจากนี้ จะเสนอให้รัฐบาลให้ความดูแลช่วยเหลือนิคมอุตสาหกรรมต่างๆในการสร้างระบบป้องกันอุทกภัยของแต่ละนิคม โดยมี 2 แนวทางคือ 1.รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างทั้งหมดโดยให้นิคมฯแต่ละแห่งเสนอโครงการตามรูปแบบของแต่ละแห่ง หรือ 2.รัฐบาลจะต้องมีการสนับสนุนมาตรการทางภาษี หรือยกเว้นภาษีชั่วคราว หรือ การขอเข้ารับการส่งเสริมการลงทุนพิเศษ ตามข้อกำหนดของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยพิจารณาตามความเหมาะสม

 "มาตรการดังกล่าวที่ขอให้มีการสนับสนุนเพิ่มเติมเป็นการช่วยให้เกิดความชัดเจนในการช่วยเหลือของแต่ละนิคมฯควบคู่กับมาตรการของรัฐบาล" พลเอกชัยณรงค์ กล่าว

 พลเอกชัยณรงค์ กล่าวว่า ความคืบหน้าสถาณการณ์การระบายน้ำภายในนิคมอุตสาหกรรมนวนครคาดว่าภายในวันที่ 9 ธันวาคม 2554 จะสามารถระบายน้ำออกได้ทั้งหมด 100% โดยขณะนี้ระดับน้ำภายในนิคมฯสูงเฉลี่ยน 10 - 60 เซนติเมตร

 ทั้งนี้ สำหรับแผนระยะยาวนิคมฯจะมีการทำแนวป้องกันพิเศษ (ชีทพาย) ความยาว 20 กิโลเมตร มูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท เพื่อป้องกันอุทกภัยที่เกิดขึ้นในอนาคต

 "เราจะต้องรอความชัดเจนของการสนับสนุนจากรัฐบาลตามข้อเสนอดังกล่าว โดยหากมีความชัดเจนจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน" พลเอกชัยณรงค์ กล่าว

 ทั้งนี้ สำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่ภายในนิคมอุตสาหกรรมนวนครยังไม่มีการย้ายสายพานการผลิตออกจากนิคมฯ มีแต่เพียง บริษัทผู้ผลิตนาฬิกาชื่อดัง คาสิโอ้ ที่ก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์อุทกภัยมีแนวโน้มที่จะมีการย้ายออกไปก่อนหน้านี้ด้วยเหตุผลทางธุรกิจและต่อมาได้รับผลกระทบจากอุทกภัย แต่คาดว่าหลังจากน้ำลดลงมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการย้ายกิจการออกหรือปิดตัวลง

 นางกอบกาญจน์ วัฒนรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาสวนอุตสาหกรรมบางกะดี กล่าวว่า สถานการณ์น้ำภายในนิคมอุตสาหกรรมขณะนี้กลับสู่สภาวะปกติแล้ว โดยหลังจากน้ำลดพบปัญหาโรงงานภายในนิคมฯซึ่งเป็นโรงงานที่ประกอบธุรกิจของนักลงทุนญี่ปุ่นขนาดเล็กที่เกี่ยวข้องกับการชุบในการผลิตรถยนต์ต้องปิดตัวลงไป 1 แห่ง เนื่องจากโรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานขนาดเล็ก ซึ่งคาดว่าหลังน้ำลด 6 เดือนจะสามารถดำเนินการได้ แต่ต้องปิดตัวลงเพราะลูกค้าไม่สามารถ รอการฟื้นฟูได้
 
"มีความกังวลปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการรายเล็กอีกจำนวนมากทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรมอีกหลายแห่ง" นางกอบกาญจน์ กล่าว

 ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือด้านการผ่อนปรนเงื่อนไขทางด้านการเงินของธนาคารที่ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยขอสินเชื่อทางการเงิน คาดว่าโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมบางกะดีจะสามารถเริ่มการผลิตได้บางส่วน ในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ และคาดว่าจะกลับมาผลิตได้เต็มจำนวนในช่วงเดือน กุมภาพันธุ์ - มีนาคม

 นายผสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะมีการหารือร่วมกันระหว่าง สำนักงานส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมประเทศญี่ปุ่น (เอสเอ็มอาร์เจ) กับกระทรวงอุตสาหกรรม ในการให้ความช่วยเหลือนักลงทุนญี่ปุ่นรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

นอกจากนี้ วันที่ 23 ธันวาคม 2554 ใจก้า จะมคการประชุมร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมถึงมาตรการของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติและการฟื้นฟูหลังน้ำลด
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง