กยน.เสนอแผนจัดการน้ำระยะสั้น 6 เดือน รับมือน้ำฝนปีหน้า

สังคม
6 ธ.ค. 54
13:35
8
Logo Thai PBS
กยน.เสนอแผนจัดการน้ำระยะสั้น 6 เดือน รับมือน้ำฝนปีหน้า

คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน.เตรียมบรรจุแผนบริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะระยะสั้น 6 เดือนเพื่อรับมือสถานการณ์น้ำในฤดูฝนปีหน้านี้ ขณะที่ ศปภ.เตรียมปรับโครงสร้างให้เล็กลงเน้นการเยียวยา และ ฟื้นฟู หลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีกระแสพระราชดำรัสให้บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนและรัฐบาลพร้อมกองทัพน้อมนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวน้อมรับกระแสพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมตีพิมพ์พระราชดำรัสแจกจ่ายใน ครม.และกำชับทุกกระทรวงน้อมนำพระราชดำรัสไปเป็นแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ยังได้ย้ำถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน. ที่จะบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และมอบหมายให้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แก้ปัญหาความขัดแย้งของประชาชนจากสถานการณ์น้ำ

เช่นเดียวกับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ยืนยันว่ากองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติน้อมนำกระแสพระราชดำรัสมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ โดยได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.เพียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ที่ประสานความร่วมมือระหว่างตำรวจและทหารแล้ว

สำหรับผลการประชุม กยน. มีมติเห็นชอบในแนวทางการบริหารจัดการน้ำ 6 ข้อตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ซึ่งประกอบไปด้วย แนวทางการจัดการเส้นทางขวางทางน้ำ, ระบบข้อมูลที่จะต้องมีความแม่นยำ, พื้นที่รับน้ำและแนวทางชดเชย, การบริหารจัดการน้ำในภาวะฉุกเฉิน, งบประมาณที่จะใช้ในการดำเนินการ พร้อมมอบหมายให้นำแนวทางทั้งหมดไปบรรจุในแผนระยะสั้น และ ระยะยาวภายใน 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะแผนระยะสั้นจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อแผนรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนเดือนพฤษภาคมปี 2555

ส่วนมติ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณรวม 19,783 ล้านบาทเพื่อเดินหน้าโครงการช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน, ด้านการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ส่วนโครงการอื่น ๆ นายกรัฐมนตรีขอให้มีการทบทวนและเสนอพิจารณาในที่ประชุม ครม.นัดพิเศษภายในสัปดาห์นี้

และในบ่ายวันพรุ่งนี้ ( 7 ธ.ค.) ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. โดย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ในฐานะ ผอ.ศปภ. ได้เรียกประชุมกรรมการทั้ง 12 กระทรวง พร้อมผู้ว่าราชการจังหวัด 7 จังหวัด เพื่อประเมินการบริหารจัดการน้ำที่ท่วมขังให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ และมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดโครงสร้างของ ศปภ. ลง โดยให้คง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย, กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคมไว้

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง