ฟันสวย-จิตดี ผ่าน”คลินิกทันตกรรมที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้

14 ธ.ค. 54
06:58
24
Logo Thai PBS
ฟันสวย-จิตดี ผ่าน”คลินิกทันตกรรมที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้

โดยสถาบันราชานุกูล

“คลินิกทันตกรรมที่ใครๆก็เข้าถึงได้”  ถูกย่อให้กลายเป็นห้องทันตกรรมขนาดเล็กกระทัดรัด เพื่อนำมาแสดงในงาน เครือข่ายทันตสุขภาพคนพิการ ในการประชุมวิชาการทันตสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ที่โรงแรม ฮอลิเดย์ อินน์ จ.เชียงใหม่  ไม่เพียงแต่คลินิกทันตกรรมที่จัดได้อย่างน่ารักเท่านั้น  บูทของสถาบันราชานุกูล ยังมีนวตกรรมแปรงสี ฟัน สำหรับคนที่มีข้อจำกัดในการใช้ข้อมือ แถมมีเก้าอี้สำหรับเด็กพิการนำมาจัดแสดงภายในงานอีกด้วย
  
การประชุมวิชาการทันตสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ได้มีการนำเสนอผลการดำเนินงานและนวตกรรมเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากสำหรับคนพิการของเครือข่ายทันตบุคลากรสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ 30 เครือข่าย อาทิ นิทรรศการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากคนพิการ รพช.ทุ่งช้าง จ.น่าน นิทรรศการของสถาบันทันตกรรม ร่วมกับสานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (Nectec) และศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ พัฒนา Dental Platform สำหรับคนพิการ และผู้สูงอายุที่ใช้ Wheelchair  นิทรรศการสร้างอาชีพแก่คนพิการ (แสดงการทอผ้าจากหูกทอผ้า) มูลนิธิบ้านสมานใจ เป็นต้น เพื่อทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานด้านคนพิการ
  
ขณะที่สถาบันราชานุกูล  จัดแสดง“คลินิกทันตกรรมที่ใครๆก็เข้าถึงได้” ซึ่งจำลองมาจากคลินิคทันตกรรมที่สถาบันใช้ในการให้บริการประชาชนจริง  โดยทำให้เป็นโมเดลขนาดเล็ก ใช้ตุ๊กตาตัวเล็กๆ แสดงบทบาทเป็นแพทย์ และผู้มารับบริการ ซึ่งทำให้ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมอย่างมาก
  
“ที่สถาบันราชานุกูลจะมีห้องสำหรับเด็กๆ  และผู้ปกครองที่มารอรับบริการจากทันตแพทย์มานานแล้ว ทางทีมจึงนำมาดัดแปลงโดยใช้ตัวตุ๊กตาขนาดเล๋ก  เพื่อให้ง่ายต่อการนำเสนอ  โดยภายในคลินิก ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็นห้องๆ  มีพักสำหรับเตรียมความพร้อมเพื่อเข้ารักษา  ห้องเครื่องเล่นที่จัดกระดานไม้ลื่นเอาไว้ให้เด็กๆ ได้เล่นกัน  ห้องสาธิตการแปรงฟัน โดยทางทีมแพทย์จะให้ผู้ปกครองที่อยากฝึกการแปรงฟันให้บุตรอย่างถูกวิธี สามารถใช้ห้องนี้ในการฝึกได้ด้วยตัวเอง โดยมีทีมแพทย์ให้คำปรึกษาและช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด ” ทพญ.ภัตติมา บุรพลกุล ทพ.เชี่ยวชาญ สถาบันราชานุกูล อธิบาย
  
นอกจากคลินิกทันตกรรมขนาดเล็กที่ทางสถาบันราชานุกูลนำมาจัดแสดงแล้ว ภายในบูทยังมีนวตกรรมต่างๆ ที่คิดค้นออกมาเพื่อประยุกต์ใช้ในการให้บริการสำหรับเด็กพิการอีกด้วย ซึ่งรูปแบบการจัดแสดง ยังคงคอนเซ็ปให้ตุ๊กตาตัวเล็กๆ  มาแสดงเป็นเด็กๆ ที่กำลังรับการรักษา อาทิ  เก้าอี้เปเปอร์มาเช่ เป็นเก้าอี้สำหรับเด็กพิการทางสมอง ที่ต้องผลิตตามสรีระของแต่ละคน เพื่อให้เด็กสามารถนั่งได้ด้วยตนเองในชีวิตประจำวัน เก้าอี้ขาเดียว สำหรับเด็กออทิสติกและเด็กสมาธิสั้น เพื่อฝึกการทรงตัวและฝึกสมาธิ เก้าอี้ทำฟันสาธิต สำหรับเด็กออทิสติก เพื่อเตรียมความพร้อมและปรับพฤติกรรมก่อนการทำฟัน
  
สถาบันราชานุกูล ยังมีนวตกรรมแปรงสีฟัน ที่ใช้สำหรับคนที่มีข้อจำกัดในการใช้ข้อมือ โดยด้ามจับแปรงสีฟันสามารถทำได้จากวัสดุหลายอย่าง เช่น ทำจากหลอดแคลเซียม ทำจากลูกกอล์ฟ หรือแม้กระทั่งทำจากไม้ไผ่  อย่างที่รพ.เวียงแก่น จ. เชียงราย เป็นผู้คิดค้นนอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ช่วยแปรงฟัน ที่ใช้สำหรับช่วยในการอ้าปากขณะแปรงฟัน ใช้ในกรณีที่เด็กไม่ให้ความร่วมมือในการอ้าปากขณะแปรงฟัน
  
“จากการทำงานด้านทันตกรรมในคนพิการของสถาบันราชานุกูลที่ผ่านมาพบว่า คนพิการประเภทต่างๆ ไม่สามารถรับบริการทันตกรรมได้จากสถานบริการใกล้บ้าน  แม้ว่าจะเป็นการรักษาแบบง่ายๆ และมีการจัดการพฤติกรรมที่ไม่ซับซ้อน แล้วสถานบริการเหล่านั้นก็ส่งผู้ป่วยให้มารักษาที่สถาบันราชานุกูล ซึ่งต้องเดินทางไกล มารับการบริการหลายต่อหลายครั้งโดยไม่จำเป็น  คิดว่าข้อจำกัดส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความไม่พร้อม  ขาดความมั่นใจ ความรู้ ประสบการณ์ ทักษะในการสื่อสาร และการจัดพฤติกรรมผู้ป่วยคนพิการ ในการให้บริการทันตกรรม” ทพญ.ภัตติมา สะท้อนการทำงานที่ผ่านมา
  
ทพญ. ภัตติมา ระบุต่อว่า โรคในช่องปาก เป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในกลุ่มคนพิการ รวมถึงการดูแลทันตสุขภาพในบุคคลเหล่านี้ มีวิธีการที่แตกต่างหลากหลาย  ไปตามสภาพทางจิตใจ ความสามารถทางกาย ตลอดจนพฤติกรรมของผู้ป่วยแต่ละคน จากสถิติข้อมูลคนพิการ พบว่า มีทั้งหมด 1,112,534 คน และอยู่ในส่วนภูมิภาค ถึงร้อยละ 96.45 ทำให้ต้องมีการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทันตกรรมขยายออกไปสู่ส่วนภูมิภาคให้มากขึ้น ในปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์

ทางทันตกรรมของคนพิการ  เช่น พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545   พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ  พ.ศ.2550 เป็นต้น  ซึ่งนับวันจะมีคนพิการรับรู้และมีความต้องการในการใช้สิทธิมากขึ้น แต่ยังมีสถาบันวิชาการน้อยมากในการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับความต้องการบริการทางทันตกรรมดังกล่าว
  
ด้านพญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ(สสพ.) ระบุว่า สถาบันราชานุกูล เป็นหน่วยงานของรัฐบาล สังกัดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข  มีภารกิจหลักในการพัฒนาด้านวิชาการมุ่งเน้นการศึกษาวิจัย โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้บกพร่องด้านพัฒนาการและสติปัญญาได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น  และด้วยความพร้อมของสถาบันราชานุกูลที่มีองค์ความรู้ในการให้การจัดการฝึกอบรม ในปี  2552-2553 ทางสสพ. จึงได้ส่งเสริมงบประมาณให้กับสถาบันราชานุกูล เป็นโรงพยาบาลนำร่องฝึกอบรมแก่ทันตบุคลากร จากพื้นที่ต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทันตกรรม ของกลุ่มเป้าหมายใน ”โครงการพัฒนาบุคลากรในงานทันตกรรมสำหรับคนพิการ” เพื่ออบรมให้แพทย์  ให้บริการทันตกรรมในคนพิการ อย่าง มีความรู้ มีความเข้าใจในด้านต่างๆ นอกเหนือจากความรู้ทางทันตกรรม โดยมีการฝึกปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการทำงาน
   
“การอบรมแพทย์ ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด ใช้เวลา 1 วันในการอบรม มีการให้ฝึกปฏิบัติจริง โดยให้นักกายภาพบำบัดจัดตำแหน่งบนเก้าอี้ทำฟัน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว จะมีการนวดคลายกล้ามเนื้อคนพิการเพื่อลดเกร็งก่อนการทำฟัน รวมทั้งมีการสาธิตการผูกยึดผู้ป่วย บนเก้าอี้ทำฟัน หรืออุปกรณ์ช่วยอ้าปาก เพื่อทำการฝึกใช้เครื่องมือต่างๆ ด้วยตนเองก่อนการเรียนรู้เรื่องระบบการจัดการ ซึ่งที่ผ่านมามีการอบรมบุคลกรไปแล้ว 53 คน” ทพญ.ภัตติมา กล่าว
    
โดยหลังจากการอบรมบุคลากร พญ.วัชรา สะท้อนว่า ผู้อบรมสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาดูงานอบรมภาคทฤษฎีและฝึกปฏิบัติงานจริงกลับไปดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากให้แก่คนพิการในพื้นที่ได้จริง และมีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น  ส่งผลให้คนพิการในพื้นที่นำร่องได้รับบริการมากขึ้นด้วย 
  
สำหรับนวัตกรรมต่างๆ ที่นำมาเสนอภายในงาน ทพญ.ภัตติมา ระบุว่า ผู้ปกครอง หรือโรงพยาบาลอื่นๆสามารถนำไปดัดแปลง ประยุกต์ใช้ที่บ้านหรือโรงพยาบาลได้ ทางสถาบันราชานุกูลมีความยินดีที่จะให้ความรู้เผยแพร่ออกสู่สังคม เพื่อให้คนพิการที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้รับการดูแล และรักษาได้อย่างถูกต้อง โดยในอนาคตสถาบันราชานุกูลจะมีการอบรมแพทย์ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ความรู้ในการการบริการทันตกรรมในคนพิการขยายออกไปในวงกว้าง เด็กพิการจะได้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานอีกต่อไป 
   
เชื่อว่านวัตกรรมต่างๆ ที่สถาบันราชานุกูล นำมาเสนอในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ปกครองและเด็กพิการได้เป็นอย่างมาก และคงไม่สายเกิดไปหากวันนี้ผู้ปกครองและผู้ดูแลคนพิการ จะเริ่มหันมาใส่ใจ และดูแลสุขภาพฟัน สุขภาพจิตให้กับคนพิการในครอบครัว
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง