องค์กรกลาง เสนอยกเครื่องเลือกตั้ง ให้ "เลือกนายกฯโดยตรง"

การเมือง
18 ธ.ค. 54
17:37
6
Logo Thai PBS
องค์กรกลาง เสนอยกเครื่องเลือกตั้ง ให้ "เลือกนายกฯโดยตรง"

ออกกฎหมายองค์กรเอกชนตรวจสอบเลือกตั้งได้ไร้อุปสรรค ให้มีศาลเลือกตั้งเฉพาะจัดการเรื่องร้องเรียน

พล.อ.สายหยุด  กล่าวว่า หลังการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 มีคำถามหลายคำถามเกิดขึ้น ขณะที่ประชาชนมีความรู้สึกต่างๆกัน แต่พีเน็ตมีจุดยืนยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข แต่เรายังเห็นว่าประชาธิปไตยยังไม่สมบูรณ์ตามคำที่ว่าประชาธิปไตยเป็นของประชาชน เพื่อประชาชน โดยการเลือกตั้งที่ผ่านมารัฐบาลอ้างว่าได้เสียงประชาชน 15 ล้านเสียง อาจบอกได้ว่าประชาธิปไตยมาจากประชาชน แต่เรายังสงสัยว่าทำงานเพื่อประชาชนหรือไม่ซึ่งเป็นข้อที่เรามีความกังวลจากพฤติการณ์ต่างๆ ที่รัฐบาลแสดงออกมาและจากการสังเกตการณ์ของภาคพลเมืองเห็นว่า รัฐบาลไม่ได้ทำตามนโยบายที่หาเสียงว่าจะทำงานเพื่อประเทศชาติ แต่น่าสงสัยว่าจะทำงานเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่ จึงเห็นว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมายังไม่เป็นประชาธิปไตยของประชาชน เพื่อประชาชน ขณะที่ที่เราจะได้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งก็ต้องมาจากระบบการเลือกตั้งด้วย ซึ่ง กกต. ผู้จัดการเลือกตั้ง ต้องทำตามระเบียบ มีความซื่อสัตย์ เที่ยงตรง นอกจากนี้ยังต้องให้มีองค์กรเอกชนที่เข้มแข็งเข้าไปร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้งด้วย
   
                  
พล.อ.สายหยุด กล่าวอีกว่า เมื่อจัดการเลือกตั้ง 3 ก.ค. 54 หวังว่าจะให้มาจัดการแก้ปัญหาการเมือง แต่กลายเป็นการสร้างปัญหาทางการเมืองขึ้นมาอีกในรูปใหม่ ขณะที่การเลือกตั้งครั้งนี้ให้บทเรียนสำคัญ คือ ไม่ว่าใครจะเลือกพรรคไหนก็ดี แต่การที่จะให้ประเทศชาติจะแก้ปัญหาก้าวหน้าไปได้ ก็ต้องมีผู้นำที่ดี หรืออย่างน้อยที่สุดมีผู้นำที่เข้มแข็ง ซึ่งต้องกล้ารับผิดชอบ มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความตั้งใจจริงไม่กลับคำ มีการเสียสละ และความกล้าหาญในการตัดสินใจแม้เรื่องนั้นจะเกี่ยวข้องผลประโยชน์ของตนเอง หรือพี่น้อง ก็ต้องตัดสินให้ได้ แต่จากพฤติการณ์ที่เป็นอยู่ทำให้เรายังไม่เชื่อมั่นว่า ผู้นำเข็มแข็ง เพราะไม่ยอมรับผิดชอบ ไม่ยอมรับรู้บางเรื่อง บางครั้งสังคมยังสงสัยว่าใครเป็นผู้นำ หรือนายกรัฐมนตรีหัวหน้ารัฐบาลกันแน่ ตรงนี้เห็นได้ชัดว่า หากผู้นำไม่เข็มแข็ง ไม่ปรับปรุงหรือแสดงตัวเองให้เข้มแข็ง ต่อไปคงไม่สามารถการแก้ไขปัญหาหรือนำประเทศชาติสู่ความก้าวหน้าได้ อย่างไรก็ดีสุดท้ายต้องกลับมาที่ประชาชนด้วยเพราะประชาชนเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง การแก้ปัญหาจึงต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกทางใด
   
                  
ขณะที่นายสอรัฐ มากบุญ ตัวแทนพีเน็ต กล่าวถึงข้อสรุปการสัมมนาระดมความคิดเห็นของภาคพลเมืองที่ให้ยกเครื่องกระบวนการเลือกตั้งว่า 1.ให้ปฏิรูประบบการเลือกตั้ง ส.ส. โดยให้สะท้อนเสียงประชาชนอย่างแท้จริง ด้วยการเปลี่ยนระบบเสียงข้างมากธรรมดา หรือระบบคะแนนนำกำชัย ให้เป็นระบบใหม่ที่สะท้อนจำนวนคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างแท้จริงเป็นธรรม เพื่อให้เกิดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เคารพเสียงข้างน้อย และลดการซื้อขายเสียง และ ส.ส.ระบบเขต ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค ส่วน ส.ส.ระบบสัดส่วน ให้กำหนดเขตเลือกตั้งไม่เกิน 5 เขต ให้เป็นระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิดโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้กำหนดลำดับที่และเลือกข้ามพรรคได้
   
                  
2.ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและการใช้สิทธิ ให้มีการลงทะเบียนก่อนวันเลือกตั้งทุกครั้ง รวมทั้งยกเลิกการจำกัดสิทธิของผู้ต้องขัง ภิกษุ สามเณร แม่ชี ภิกษุณี สามเณรี และกำหนดให้มีวันเลือกตั้งล่วงหน้ามากกว่า 1 วัน
   
                  
3.การปฏิรูป กกต. ให้ มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ มีสัดส่วนชายหญิงใกล้เคียงกัน ปรับบทบาท กกต. ให้มีอำนาจหน้าที่จัดเลือกตั้งเป็นหลัก ส่งเสริมองค์กรเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาตรวจสอบการเลือกตั้งอย่างแท้จริง และให้ กกต.เป็นผู้ผลิตสื่อ ดำเนินการประชาสัมพันธ์ การหาเสียงของผู้สมัคร และพรรคการเมืองอย่างเท่าเทียม
   
                  
4.การปฏิรูปกฎหมายพรรคการเมือง เสนอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งผู้ชนะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ไม่ควรให้มีการยุบพรรคเมื่อกรรมการและสมาชิกพรรคทำผิด ควรมีกฎหมายกำหนดทุกพรรคการเมือง มีสัดส่วนผู้สมัครสตรีเป็นจำนวนที่ชัดเจนและให้มีบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม รวมทั้งเปิดโอกาสให้ตัวแทนชนกลุ่มน้อยหรือผู้ด้อยโอกาสมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรด้วย และกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนและทำการลงโทษหากพรรคการเมืองไม่เปิดเผยข้อมูลการรับจ่ายเงินและข้อมูลของนักการเมืองในพรรคที่ตนสังกัดอยู่ต่อสาธารณะ
   
                 
 5.เสนอให้มี พ.ร.บ.องค์กรเอกชนตรวจสอบการเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชน สามารถตรวจสอบการเลือกตั้งในทุกระดับอย่างอิสระและตรวจสอบพรรคการเมืองได้โดยปราศจากอุปสรรคใด ๆ และรัฐจำเป็นต้องกำหนดให้องค์กรตรวจสอบดังกล่าว มีกองทุนพัฒนาองค์กรเอกชนที่มีสัดส่วนเท่าเทียมกับกองทุนพัฒนาการเมือง และ 6.การเลือกตั้ง เพื่อให้ การทำงานของ กกต. มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการแก้ปัญหาร้องเรียน การฉ้อฉลเลือกตั้ง ให้ตั้งศาลคดีเลือกตั้ง ขึ้นมาดำเนินคดีโดยเฉพาะเพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากหน่วยงานผู้เสียหาย และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
   
                  
อย่างไรก็ดีเพื่อให้ข้อเสนอเหล่านี้มีความเป็นได้ เราโดยภาคพลเมืองจะนำเสนอเรื่องนี้ต่อรัฐบาล กกต. คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเลือกตั้งต่อไป โดยเราจะมีการรณรงค์ประชาชนทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนให้การปฏิรูปการเลือกตั้งนี้เป็นจริงด้วย ซึ่งเราจะให้การเมืองภาคประชาชนมีพลังมากขึ้น ขณะที่กรอบเวลาการผลักดันให้ออก พ.ร.บ.องค์กรเอกชน ตรวจสอบ ฯ คงใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการสร้างกระแสให้เกิดการยอมรับ และยกร่างกฎหมายเพื่อเสนอสภาพิจารณาต่อไป ซึ่งต้องให้มีการสำรวจความเห็นประชาชนให้เรียบร้อยด้วย
   
                 
 ด้าน น.ส.สมศรี หาญอนันทสุข ผู้อำนวยการมูลนิธิอันเฟรล  กล่าวถึงการนำข้อเสนอให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมว่า หากเราทำให้ข้อเสนอเหล่านี้ปฏิบัติได้ จะทำให้การเลือกตั้งในอนาคตมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานมากขึ้น และจะนำสู่ความปรองดองได้อย่างแท้จริง ขณะที่การประชุมครั้งนี้จะได้นำไปสู่การต่อยอดในการประชุมระดับสากลภูมิภาคด้วย ซึ่งจะนำข้อสรุปที่ได้จากการประชุมไปประกอบในการประชุม การประกาศปฏิญญาว่าด้วยการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมในภูมิเอเชีย ที่จะจัดขึ้นที่ กทม. ในเดือน มี.ค.55 หรือ ค.ศ. 2012 ซึ่งมีองค์กรเอกชนและผู้ชำนาญการเลือกตั้งจากนานาชาติร่วมประมาณ 20 ประเทศ ขณะที่การประชุมร่วมกับพีเน็ตครั้งนี้ยังดีใจด้วยที่การประชุมให้ความสำคัญต่อสิทธิสตรี การยกเครื่องครั้งนี้ถือว่ายิ่งใหญ่มาก เช่นเราไม่เคยพูดถึงเรื่องการเลือกตั้งนายก ฯ โดยตรงมาก่อน
   
                  
“การเสนออะไรใหญ่ ๆ อย่างนี้ เราเชื่อว่าอาจมีคนไม่พอใจ บางหัวข้ออาจทำให้ 2 สีไม่พอใจด้วยก็ได้ เราอาจถูกโจมตี เพราะเราไม่เคยเสนออะไรแบบ BIGBANG ที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่เราคิดว่าถึงเวลาแล้ว ซึ่งเราเป็นองค์กรกลางก็ต้องเผชิญพายุ แต่เราก็มีจุดยืนชัดเจนบนพื้นฐานสิทธิมนุษนชนและเสรีภาพ ” น.ส.สมศรีกล่าว
   
                  
ขณะที่ ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายหญิงผลิกโฉมประเทศไทย กล่าวด้วยว่า เชื่อว่าข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้จะร่วมกันผลักดันให้เป็นรูปธรรมได้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2558 เมื่อครบวาระ 4 ปี หลังจากการเลือกตั้งปี 2554


ข่าวที่เกี่ยวข้อง