วิกฤตหนี้ยุโรป-เปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตัวแปรสำคัญต่อการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับปี 2555

เศรษฐกิจ
21 ธ.ค. 54
18:08
14
Logo Thai PBS
วิกฤตหนี้ยุโรป-เปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตัวแปรสำคัญต่อการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับปี 2555

สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ นับเป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของไทย ดังนั้น สถานการณ์วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป และความเปราะบางของการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะส่งผลต่อบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอย สินค้าฟุ่มเฟือยและราคาแพงอย่างอัญมณีและเครื่องประดับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มเข้าสู่มาตรการรัดเข็มขัด และจำกัดการบริโภคในสินค้าที่ไม่มีความจำเป็นในการดำเนินชีวิต
 
               
ทั้งนี้ ทิศทางการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในปี 2555 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในกรณีพื้นฐาน หากสถานการณ์วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดหลักคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ก็คาดว่าจะเป็นปัจจัยหนุนภาคการส่งออกยังสามารถขยายตัวในแดนบวกต่อไปได้ โดยมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ(ไม่รวมทองคำ)ในปี 2555 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 6,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวประมาณร้อยละ 5 (YOY) อย่างไรก็ตาม ในกรณีเลวร้าย หากวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลัก ยืดเยื้อและยาวนาน และขยายเป็นวงกว้างกว่าที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ ก็อาจจะส่งผลทำให้การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย มีแนวโน้มลดลงกว่าปีที่ผ่านมา โดยอาจจะมีมูลค่าต่ำลงมาอยู่ที่ระดับ 5,600-6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 5-10 (-10.0 ถึง -5.0) เนื่องจากสินค้ากลุ่มดังกล่าวมีความอ่อนไหวต่อภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกค่อนข้างสูง

           
โดยประเด็นสำคัญที่จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ความเสี่ยงที่ยืดเยื้อจากวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซน และปัญหาการคลังของสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะมีผลต่อกำลังซื้อและอารมณ์ในการจับจ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีและเครื่องประดับ นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบทองคำและเงินที่อาจผันผวนต่อเนื่อง ยังมีผลต่อต้นทุนและอัตรากำไรของผู้ประกอบการ รวมทั้งทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า เมื่อเทียบกับสกุลเงินท้องถิ่นของประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะจีนและอินเดีย ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสินค้าของไทยแล้ว ยังส่งผลโดยตรงต่อผลประกอบการของผู้ส่งออกด้วย รวมไปถึงการติดตามความคืบหน้าในกรณีการขอสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในสินค้าเครื่องประดับทำด้วยเงิน ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการเสนอลงนามให้มีผลบังคับใช้เป็นกฏหมาย ซึ่งหากเป็นผลสำเร็จ คาดว่า น่าจะส่งผลในเชิงบวกต่อมูลค่าการส่งออกและกระตุ้นยอดขายในปี 2555 ได้
 
           
สำหรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจ ในระยะสั้นถึงกลาง ผู้ประกอบการควรป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและราคาทองคำด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตลอดจนปรับปรุงเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพ และใช้กลยุทธ์การบริหารต้นทุนการผลิตอย่างเหมาะสม โดยเน้นคุณภาพการออกแบบสินค้าให้มีความหลากหลายและตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ภายใต้ระดับราคาที่เหมาะสม เพื่อรองรับภาวะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีงบประมาณอันจำกัด ส่วนระยะยาว ผู้ประกอบการควรหันมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของตนเอง มีการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือ รวมทั้งควรบริหารความเสี่ยงโดยการแสวงหาลู่ทางการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น เช่น จีน อินเดีย เป็นต้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง