แนะรัฐคิดวิธีป้องกันภัยพิบัติควบคู่กับแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-สังคม

สังคม
22 ธ.ค. 54
11:30
134
Logo Thai PBS
แนะรัฐคิดวิธีป้องกันภัยพิบัติควบคู่กับแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-สังคม

นักวิชาการแนะรัฐพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ถอดบทเรียนจากมหาอุทกภัย เพื่อลดปัญหาภัยธรรมชาติซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ ยันโอกาสน้ำท่วม กทม.เป็นไปได้ยาก

ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านภัยพิบัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวระหว่างเปิดตัวหนังสือ "โลกร้อนสุดขั้ว วิกฤติอนาคตประเทศไทย" ฉบับเฝ้าระวังพิเศษ คำเตือนสุดท้ายก่อนภัยธรรมชาติจะคร่าคนไทยให้หายนะ โดย ศ.ดร.ธนวัตน์แนะนำรัฐบาลให้ถอดบทเรียนจากมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี 2554 เพื่อพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส และเอาจริงกับการวางมาตรการเชิงรุกแผนระยะยาวเพื่อรับมือกับปัญหาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้น ให้มากกว่าที่เป็นในปัจจุบัน พร้อมแนะว่า รัฐบาลไม่ควรจะมองแต่เรื่องเศรษฐกิจและสังคมเพียงอย่างเดียว ต้องมองในเรื่องของการลดภัยพิบัติด้วย

ศ.ดร.ธนวัตน์ ยกตัวอย่างการบริหารจัดการของรัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อครั้งที่เกิดอุทกภัยในปี 1923 ภายหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวในกรุงโตเกียว ซึ่งมีการวางแผนระยะยาวในการบริหารจัดการ และสามารถฟื้นฟูจนกลับมาเป็นประเทศมหาอำนาจและเจริญได้ ถ้าไทยสามารถถอดบทเรียนได้อย่างญี่ปุ่น จะเป็นโอกาสของประเทศไทย เพราะถ้าหากรัฐบาลไม่เอาจริงวิกฤติที่เกิดขึ้น ภัยธรรมชาติก็จะซ้ำเติมประชาชน จนทำให้การพัฒนาประเทศด้อยลงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มีการจัดการ

ส่วนความเป็นไปได้หลังจากที่มีคำทำนายในอนาคตว่าน้ำจะท่วมประเทศไทยจนหายไปเกือบครึ่งประเทศนั้น ศ.ดร.ธนวัติ ระบุว่า จากการศึกษาวิจัยกว่า 20 ปี พบว่ามีโอกาสที่น้ำทะเลจะท่วมกรุงเทพมหานครสูงอีก 100 ปีข้างหน้า ประมาณ 40-60 เซนติเมตร ซึ่งจะทำให้แผ่นดินหายไปเพียง 6-8 กิโลเมตรเท่านั้น เพราะฉะนั้นความกังวลว่า พื้นที่กรุงเทพมหานครจะหายไปในเชิงวิชาการคงจะเป็นเรื่องยาก

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.ธนวัตน์ กล่าวว่า หนังสือเล่มดังกล่าวจะเตือนว่าต่อไปการบริหารจัดการประเทศไทยจะคิดเล่นไม่ได้ ในอนาคตภัยพิบัติยังจะก่อกวนการพัฒนาประเทศในเชิงรุกมากกว่าปัจจุบัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง