สภาทนาย-นักวิชาการเตรียมยื่นฟ้องภาครัฐกว่า 100 คดีจัดการน้ำล้มเหลว

สังคม
23 ธ.ค. 54
06:07
15
Logo Thai PBS
สภาทนาย-นักวิชาการเตรียมยื่นฟ้องภาครัฐกว่า 100 คดีจัดการน้ำล้มเหลว

สภาทนายความร่วมกับนักวิชาการเตรียมยื่นคำฟ้องหน่วยงานภาครัฐที่บริหารจัดการน้ำผิดพลาดรวม 100 คดีต่อศาลปกครอง ศาลอาญา และ ศาลแพ่ง หลังจากมีตัวแทนภาคประชาชนได้รวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า 350 คนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยฟ้องร้องต่อศาลปกครองไปแล้ว

นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ นักวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 26 ธ.ค.ทางสภาทนายความได้ตั้งทนาย 19 คน ยื่นคำฟ้องหน่วยงานรัฐที่บริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมผิดพลาดจนทำให้ประชาชนเดือดร้อนต่อศาลปกครอง ศาลอาญาและศาลแพ่ง โดยเป็นคำฟ้องประมาณ 100 คดีที่จะฟ้องรัฐบาล , ศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ., กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญามีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 - 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ โดยหลังจากนี้จะมีการยื่นคำฟ้องเพิ่มเติมอีก

ก่อนหน้านี้นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เป็นตัวแทนภาคประชาชนรวบรวมชื่อประชาชน 352 คน ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำล้มเหลว โดยเป็นการฟ้องหน่วยงานรัฐ 11 หน่วยงาน ที่จัดการน้ำที่ผิดพลาด ล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ จนส่งผลให้เกิดความเสียหายของประชาชนต่อศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม เพื่อให้หน่วยงานทั้งหมดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน นอกจากนี้จะมีการยื่นคำร้องเพิ่มเติมต่อศาลปกครองในช่วงต้นปีหน้า

ขณะที่นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงการทำงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน.หลังมีนักวิชาการด้านบริหารจัดการน้ำบางคนโจมตีว่า คณะทำงานส่วนใหญ่เป็นนักการเมือง ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำว่า โครงสร้างของ กยน.ประกอบด้วย นักวิชาการ และอดีตข้าราชการระดับสูงที่มีประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำหลายคน

ทั้งนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ กยน. นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นักวิชาการผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า การกำหนดโครงสร้างคณะกรรมการ กยน. รวมทั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้น ได้ผ่านการพิจารณาว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถได้รับการยอมรับในการบริหารจัดการน้ำทั้งสิ้น
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง