กทม.คาด ปชช.จะเข้าร่วมมหกรรม"ยิ้มสู้ กู้ภัยน้ำท่วม" กว่าแสนคน

สังคม
24 ธ.ค. 54
06:31
10
Logo Thai PBS
กทม.คาด ปชช.จะเข้าร่วมมหกรรม"ยิ้มสู้ กู้ภัยน้ำท่วม" กว่าแสนคน

กทม.คาดว่าจะมีประชาชนเข้าสมัครสินเชื่อในงานมหกรรม"ยิ้มสู้ กู้ภัยน้ำท่วม" กว่า 100,000 คน ในวงเงินไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท

ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดงานมหกรรม "ยิ้มสู้ กู้ภัยน้ำท่วม" ซึ่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำ 4 แห่ง ได้แก่ธนาคารออมสิน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้การช่วยเหลือด้านการเงินและสินเชื่อให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยพบว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 37 เขต มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนมากถึง 600,000 ครัวเรือน และมีความจำเป็นต้องใช้ทุนทรัพย์ในการฟื้นฟู ซึ่งโครงการนี้เป็นอีกช่องทางให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องกู้ยืมเงินกู้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ทั้งนี้จะให้บริการสินเชื่อพิเศษให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และผ่อนชำระเงินคืนยาวนานสูงสุด 30 ปี รวมทั้งนำเงินไปลงทุนทำการค้า หรือสร้างกิจการใหม่เพื่อฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

สำหรับกิจกรรมภายในงานมีการเปิดบูธเพื่อรับสมัครและให้คำแนะนำจากสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ คาดว่าจะมีประชาชนสนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 100,000 คน และอาจมีการขยายเวลาเพิ่มเติมหลังประชาชนหลายคนพลาดโอกาสในวันนี้ (24 ธ.ค.)

ขณะเดียวกันผู้ว่าฯ กทม. เผยว่า นอกจากการช่วยเหลือด้านการเงินและสินเชื่อแล้ว กทม.ยังยกเว้นการจ่ายเงินภาษีที่ดินให้กับเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขณะที่ในส่วนของสถานธนานุบาล กทม. จะคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ให้กับผู้ที่นำทรัพย์มาจำนำมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท จะคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 บาท และจะขยายเวลาออกไปอีก 5 เดือน จากเดิมที่หมดเขตในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ นอกจากนี้จะงดเก็บดอกเบี้ยเป็นเวลา 1 เดือนครึ่งให้กับประชาชนที่นำทรัพย์ไปจำนำกับสถานธนานุบาล กทม.

ส่วนกรณีการจ่ายเงินชดเชย 5,000 บาทให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม ผู้ว่าฯ กทม. ยืนยันว่าไม่ได้มีการดึงเรื่องเพื่อให้เกิดความล่าช้า ขณะนี้ได้เร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยมีประชาชนลงทะเบียนทั้งหมด 400,000 คน และสามารถจ่ายเงินชดเชยได้แล้ว จำนวนกว่า 200,000  คน ใน 30 เขต ทั้งนี้ไม่อยากให้เปรียบเทียบการจ่ายเงินของ กทม. กับจังหวัดอื่น ๆ เนื่องจากประชาชนที่อาศัยใน กทม. ส่วนใหญ่จะเป็นผู้เช่ามากกว่าเป็นเจ้าของบ้าน จึงทำให้เกิดปัญหาในการตรวจสอบข้อมูล และทำให้ต้องล่าช้าในบางกรณี ส่วนประชาชนเขตอื่น ๆ ที่เหลือ คาดว่าหลังปีใหม่ เรื่องจะถูกนำเข้าเป็นมติ ครม. เพื่อพิจารณา และจะทยอยให้ธนาคารออมสินดำเนินการจ่ายเงินต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง