ผลสำรวจสถานการณ์สูบบุหรี่ในศาสนสถาน พบ ผู้นำศาสนายังคงสูบบุหรี่ 31%

สังคม
25 ธ.ค. 54
10:32
16
Logo Thai PBS
ผลสำรวจสถานการณ์สูบบุหรี่ในศาสนสถาน พบ ผู้นำศาสนายังคงสูบบุหรี่ 31%

ศจย. เผย รับผู้นำศาสนามีผลกระทบต่อสาธารณชนอาจอมควันตาม 3 ใน 4 เห็นด้วยรณรงค์ไม่ถวาย/ให้ บุหรี่และมีสิทธิปฏิเสธไม่รับ เพราะเป็นสิ่งเสพติด ผิดหลักศีลธรรม

ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า  ปัจจุบันกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ได้กำหนดสถานที่ปลอดบุหรี่ไว้จำนวนมากซึ่งศาสนสถานถือเป็นสถานที่หนึ่งที่ห้ามสูบบุหรี่โดยมีการศึกษาวิจัยเพื่อนำไปสู่การรณรงค์ให้ศาสนสถานเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่โดยศูนย์วิจัยและการจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (มสบ.) ร่วมกับ สำนักวิจัยเอแบค โพลมหาวิทยาลับอัสสัมชัญ ได้ร่วมทำการศึกษา  เรื่องพฤติกรรมและความคิดเห็นต่อการสูบบุหรี่ของผู้นำศาสนา :กรณีศึกษาพระและผู้นำทางศาสนา ในกลุ่มตัวอย่างผู้นำทางศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลามจำนวน 905 ตัวอย่าง ในเขต กทม. และจังหวัดภูมิภาค เช่นเชียงใหม่ ชลบุรี นครราชสีมา และสงขลา ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.52 – 8 มิ.ย. 52

โดยผลการศึกษาพบว่า  ผู้นำศาสนาเกินครึ่ง หรือ 52.7% ระบุว่าเคยสูบบุหรี่/ยาสูบมาก่อน ซึ่งปัจจุบันบางท่านเลิกสูบแล้วคงเหลือผู้ที่สูบอยู่ในปัจจุบันคิดเป็น 31% ของผู้นำศาสนาโดยผู้ที่เคยลองสูบมีอายุเฉลี่ยที่สูบบุหรี่ครั้งแรก คือ 17ปี   ประเภทของยาสูบที่ใช้เป็นประเภทบุหรี่ซองมากที่สุด รองลงมาคือ ยาสูบมวนเอง ยาเส้น ซิก้าร์ ไปป์เมื่อคิดปริมาณการสูบโดยเฉลี่ยพบว่า อยู่ที่วันละ 11 มวน

              
ดร.นพดล กรรณิกา ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน (เอแบคโพล)  มหาวิทยาลับอัสสัมชัญ  กล่าวว่า  ที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มตัวอย่างที่ยังสูบบุหรี่  95% ระบุว่า สูบในเขตศาสนสถาน  สถานที่ที่สูบ คือห้องนอนส่วนตัว ใต้ต้นไม้ ในอาคารพักอาศัย สนาม นอกอาคาร สุขา โดยมีเพียง 5% ที่ระบุว่า สูบในขณะที่อยู่นอกศาสนสถาน ส่วนช่องทางที่ได้บุหรี่/ยาสูบ มานั้น ส่วนใหญ่ซื้อเอง และรองลงมาระบุว่าฝากบุคคลอื่นซื้อ  และศาสนิกชนนำมาถวาย หรือได้รับจากคนสนิท เมื่อถามว่า กลุ่มตัวอย่าง เคยพบเห็นคนในบริเวณศาสนสถานสูบบุหรี่/ยาสูบ ในช่วง 3 เดือน ที่ผ่านมา หรือไม่ พบว่า  กลุ่มตัวอย่าง 51.7% ระบุว่าพบเห็นน้อยมาก-ไม่พบเลยในขณะที่  กลุ่มตัวอย่าง 33.4%เคยพบในระดับปานกลาง  และกลุ่มตัวอย่าง 14.9% พบเห็นมาก-มากที่สุด โดยมาตรการที่พบเห็นว่ามีการใช้ในศาสนสถานมากที่สุด คือการติดป้ายห้ามสูบบุหรี่/ยาสูบ รองลงมา คือ มาตรการสั่งสอน ตักเตือน

              
“เมื่อถามกลุ่มตัวอย่าง พบว่า กลุ่มที่อยากจะเลิกสูบยามี 57.2% โดยให้เหตุผล ว่า ทราบว่าการสูบบุหรี่ไม่ดีต่อสุขภาพทำให้เกิดโรคประจำตัวต่างๆ ทำให้โรคกำเริบ และบุหรี่มีราคาแพงขึ้น  ในขณะที่ 24.5% ของกลุ่มตัวอย่างที่ยังสูบบุหรี่ระบุว่า คิดจะเลิกสูบบุหรี่ แต่ไม่ใช่ในเร็วๆ นี้  และ 18.3% ระบุว่า ยังไม่คิดเลิกสูบบุหรี่ เพราะเวลาไม่สูบจะหงุดหงิด  โดยกลุ่มตัวอย่าง 3 ใน 4ระบุว่า การที่ผู้นำศาสนาสูบบุหรี่ ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบในเยาวชนได้” ดร.นพดล กล่าว

              
ดร.นพดล  กล่าวว่า  ผลการศึกษาครั้งนี้ ยังชี้ให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่  85.3%เห็นด้วย หากจะ “รณรงค์” ไม่ให้ ศาสนิกชนถวาย/ให้บุหรี่/ยาสูบ แก่ผู้นำทางศาสนา  มีเพียง 6.9% ระบุไม่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ระบุว่าการสูบบุหรี่ต่อหน้าสาธารณชนเป็นเรื่องไม่เหมาะสมและยังไม่เห็นด้วยในการถวายบุหรี่/ยาสูบ ของศาสนิกชนโดยกลุ่มตัวอย่างครึ่งหนึ่งหรือ 55.1% เห็นว่าผู้นำศาสนาควรจะปฏิเสธ หากศาสนิกชนนำบุหรี่/ยาสูบ มาถวาย โดยให้เหตุผลว่าไม่เหมาะสมเพราะเป็นสมณเพศ ไม่ควรยุ่งกับสิ่งเสพติด ซึ่งถือว่าเป็นการผิดวินัย โดย92.4% ระบุว่า บุหรี่/ยาสูบ ถือเป็นสิ่งเสพติด นอกจากนี้ยังเห็นด้วยกับผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ว่า “วัด / โบสถ์/มัสยิด ควรมีบทบาทในการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ เช่น แนะนำผู้ที่ต้องการเลิกติดป้ายรณรงค์ และเข้าร่วมกับชุมชนเพื่อให้ความรู้ ควบคู่ไปกับทำให้ศาสนสถานปลอดบุหรี่โดยการใช้ป้ายรณรงค์ ถือเป็นมาตรการที่สำคัญ และทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อปฏิบัติตามกฎกระทรวงอย่างเคร่งครัด”

             
ด้านศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  กล่าวว่า  ผู้นำศาสนาเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป  และเป็นผู้นำทางความคิดของสังคม สมควรอย่างยิ่งที่จะเข้ามาแสดงบทบาทนำในการแก้ปัญหาการสูบบุหรี่  ซึ่งสาเหตุของการป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาที่สำคัญที่สุดของคนไทย  ปีละ  48,000 กว่าคน  ทั้งนี้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่  19  ได้กำหนดให้ศาสนสถานอันรวมถึงวัด  มัสสยิดและโบสถ์ ต้องปลอดบุหรี่ทั้งหมด ผู้นำศาสนาทุกคนจึงควรเป็นแบบอย่าง โดยไม่สูบบุหรี่ในบริเวณวัด  มัสยิด  และโบสถ์  ยกเว้นในกุฏิส่วนตัว  หรือที่ที่ลับตาประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนทั่วไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง