"อินเดีย" ใกล้คลอดโครงสร้างภาษีสินค้าบริการใหม่ หลังประกาศใช้อัตราค่าแรงขั้นต่ำใหม่ไปแล้ว

ต่างประเทศ
6 ม.ค. 55
14:42
14
Logo Thai PBS
"อินเดีย" ใกล้คลอดโครงสร้างภาษีสินค้าบริการใหม่ หลังประกาศใช้อัตราค่าแรงขั้นต่ำใหม่ไปแล้ว

คาดส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวม ประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เชื่อผู้ประกอบการสั่งซื้อสินค้าเข้าไปขายมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก  เปิดเผยถึงรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียถึงระบบอัตราภาษีสินค้าบริการใหม่และการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายของนายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้ติดตามสถานการณ์การค้าโลกที่มีผลต่อการไทยว่า การเรียกเก็บภาษีสินค้าและบริการใหม่(Goods and Services Tax: GST) คาดว่าจะใช้ในปี 1 เมษายน 2555 เพื่อให้โครงสร้างภาษีฯ เป็นระบบมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการในทุกระดับจะได้รับประโยชน์แทนระบบการเรียกเก็บภาษีต่างๆที่กระจัดกระจายหลายอย่าง เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)  ภาษีบริการ(Service Tax) ภาษีสรรพสามิต(Excise duties) และภาษีการขายฯ(Central sales tax) เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อนำโครงสร้างภาษีใหม่มาใช้จะส่งผลในทางบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนชาวอินเดีย กล่าวคือ ปัจจุบันการซื้อสินค้าและบริการบางประเภทในแต่ละครั้งจะต้องชำระภาษีสูงถึง 30% ของราคานั้นๆ แต่เมื่อนำระบบภาษีต่างๆมารวมกันเป็น GST ระบบเดียว การเรียกเก็บภาษีสินค้าและบริการรวมแล้วจะลดลงกว่าครึ่ง โดยบริษัทใหญ่ หรือ ผู้ประกอบการรายเล็กจะต้องลงทะเบียนเข้าใช้ระบบ GST ทุกราย

นอกจากนี้ในเมืองนิวเดลี ยังประกาศใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่เช่นเดียวกับไทย ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยที่ค่าจ้างขั้นต่ำใหม่สูงสุดสำหรับแรงงานที่มีฝีมือ(Skilled worker) คือ 312รูปีต่อวัน(ประมาณ 200 บาท) แต่ถ้าว่าจ้างกันเป็นรายเดือน นายจ้างก็จะจ่ายค่าจ้างแค่ 8,112 รูปี(ประมาณ 5,192บาท) อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2554 คือ 1 รูปีต่อ 0.64 บาท

สำหรับแรงงานไร้ฝีมือ(Unskilled worker) จะได้รับค่าจ้าง 256 รูปีต่อวัน(ประมาณ 164บาท) หากเป็นรายเดือนๆละ 6,656 รูปี(ประมาณ 4,260 บาท) ทั้งนี้ อัตราค่าจ้างฯดังกล่าว มีผลต่อลูกจ้างทุกคน โดยไม่แบ่งชั้นวรรณะ ทั้งหญิงและชาย

"ระบบภาษีและการประกาศใช้อัตราค่าจ้างใหม่นี้ จะส่งผลดี คือ ทำให้ประชาชน ซื้อสินค้า ถูกลง จึงนำเงินออกมาใช้จ่าย ก็จะทำให้มีกระแสเงินไหลเวียนมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ส่วนผู้ประกอบการต่างชาติจะได้รับประโยชน์ คือ เมื่อภาษีลดลง สินค้าถูกลง ชาวอินเดีย ก็จะมีกำลังซื้อมากขึ้น และผู้ประกอบการก็ย่อมขายสินค้าฯได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ มีการสั่งสินค้าเข้ามาขายในอินเดียเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย" นางนันทวัลย์ กล่าว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง