ม.ร.ว.ปรีดียาธร ชม คลัง- ธปท. จับมือแก้ มาตรา 7(3) พ.ร.ก โอนหนี้ฯ

เศรษฐกิจ
12 ม.ค. 55
12:45
11
Logo Thai PBS
ม.ร.ว.ปรีดียาธร ชม คลัง- ธปท. จับมือแก้ มาตรา 7(3) พ.ร.ก โอนหนี้ฯ

ย้ำเนื้อหากฎหมาย ใช้ได้ ไม่ทำให้ ธปท.เสียหาย แต่ยังมีจุดอ่อน เรียกเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากเต็มเพดาน 1% เชื่อ ศก.อ่วม

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโครงการราชดำเนินเสวนา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดการอภิปรายเรื่อง “วิเคราะห์ร่างพระราชกำหนดการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ” ณ อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล ประธานคณะกรรมการอำนวยการศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมอภิปราย

ม.ร.ว.ปรีดียาธร กล่าวถึงที่ไปที่มาของกองทุนฟื้นฟูฯ ว่า ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2528 จากความคิดร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่ออัดฉีดให้ระบบอยู่ได้ ป้องกันไม่ให้ ธปท. และผู้ฝากเงินเสียหาย โดยกองทุนฯ เปรียบเป็นหน่วยหน้า รับการขาดทุนไว้ก่อนจนกว่าสถานการณ์จะนิ่ง จึงแปลงหนี้ระยะสั้น ให้เป็นหนี้ระยะยาว ซึ่งในขณะนั้นทั้งกระทรวงการคลัง และ ธปท. ไม่เคยทะเลาะกัน ทุกคนรู้หน้าที่ว่าทำเพื่อประเทศชาติ แตกต่างจากครั้งนี้

"ส่วนสมัยที่เข้ามารับตำแหน่ง ปี 2544 ก็ได้รับหนี้ทั้งหมดเข้าสู่กองทุนฟื้นฟู และจากการคำนวณทั้งหมดพบว่า มีหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท และเพื่อไม่ให้เป็นการซุกหนี้ใต้พรม หลอกโลก จึงใช้วิธีขอโควตาออกพันธบัตรช่วยชาติในขณะนั้น และทยอยออกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่การจะออกพันธบัตรได้นั้น ต้องเถียงกันจบแล้วถึงจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงเกิดภาพว่าประเทศชาติไม่ทะเลาะกัน แต่คราวนี้ไม่ทันเจรจากลับนำเข้า ครม."

ม.ร.ว.ปรีดียาธร กล่าวถึงร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้ เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.... ว่า ก็ต้องเห็นใจกระทรวงการคลังที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละ 6 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากมติ ครม.ก่อนหน้านี้ระบุให้โอนหนี้ไปที่กองทุนฟื้นฟูฯ แม้จะไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย แต่น่าเกลียดอยู่อย่างคือ โลกจะมองว่าเราเอาหนี้ไปซุก เพราะสุดท้ายก็ต้องไปออกพันธบัตร หรือกู้แบงค์ชาติให้พิมพ์ธนบัตรมาใช้หนี้ ซึ่งขณะนี้ในประเทศมีพันธบัตรหมุนเวียนอยู่ประมาณ 1ล้านล้านบาท หากพิมพ์เพิ่มอีกเท่าตัวประเทศคงไปไม่รอด

"ขณะนี้เข้าใจว่า มีการปรับแก้ มาตรา 7 (2) เรื่องเงินผลประโยชน์ ให้นำมาเข้าบัญชีผลประโยชน์ไว้ใช้ดอกเบี้ย ซึ่งฟังดูแล้วไม่ต่างจากเดิม ไม่ผิดอะไร แต่ที่เปลี่ยนอย่างมาก คือ มาตรา 7(3) จากเดิมที่ให้โอนเงินหรือสินทรัพย์ของ ธปท. หรือกองทุนเข้าบัญชีตามมาตรา 5ตามจำนวนที่ ครม.กำหนด ซึ่งหลังจากมีการติงกันมาก ทางกระทรวงการคลังและ ธปท.ก็ร่วมกันพิจารณาและตัดคำว่า ธปท. ออกไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรอย่างยิ่ง เนื่องจากที่ผ่านมากองทุนฯ ได้เงินจากการขาดหุ้นหลายหมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันถ้ามีกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐบาลสั่งการให้ ธปท. โอนเงินให้ใครก็ได้ ซึ่งหาต่างชาติรู้อยู่ไม่ได้แน่นอน เพราะแปลว่า ธปท. เจอนักการเมืองที่ไม่มีความยับยั้งชั่งใจแทรกแซง"

ม.ร.ว.ปรีดียาธร กล่าวถึงข้อดีของ ร่าง พ.ร.ก. ปรับปรุงการบริหารหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ฉบับแก้ไขล่าสุดว่า มีข้อดีตรงที่ไม่มีการโอนหนี้จากรัฐบาลมายังกองทุนฟื้นฟูฯ เพราะว่าพันธบัตรที่ออกไป ลูกหนี้ยังคงเป็นกระทรวงการคลังตามเดิมทุกประการ แต่ทั้งนี้ ร่างฉบับดังกล่าวมีการเพิ่มเติมในส่วนของแหล่งเงินเพื่อชำระหนี้ ได้แก่ เงินกำไรสุทธิของ ธปท. 90 % เงินผลประโยชน์จากบัญชีสำรองธนบัตร รวมถึงเงินค่าต๋งที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เรียกเก็บจากธนาคารพาณิชย์ แต่จาก 3 แหล่งดังกล่าวมีการคำนวณแล้วพบว่า ไม่เพียงพอสำหรับชำระดอกเบี้ย ซึ่งเมื่อคลังอยากสบายตัว รัฐบาลจึงมีนโยบายเก็บเงินเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากเพิ่มขึ้นอีกจนถึง 1% ต่อปี

“มาตรา 7 (3) โดยรวม ใช้ได้ เพราะไม่มีโอกาสทำให้ ธปท.เสียหาย เพราะหาก ธปท.เสียหาย ประเทศไทยในสายตาโลก ไม่มีเครดิตเหลือเลย ส่วนการต้องหาเงินเพิ่ม เพื่อนำมาเร่งชำระหนี้ของประเทศชาติให้เร็วขึ้นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่การที่ทำให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากไม่เหลือเงิน จะต้องมีวิธีแก้ไขด้วย”
ม.ร.ว.ปรีดียาธร กล่าวถึงจุดอ่อน ของ พ.ร.ก. โอนหนี้ มี 2 จุดคือ 1. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งเก็บเงินไว้สำหรับชดเชยให้ผู้ฝากรายย่อยที่มีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งผู้ฝากรายย่อยมีสัดส่วนมากกว่า 90% ของผู้ฝากทั้งหมด แต่ขณะนี้เมื่อเงินก้อนดังกล่าวจะหมดไป จำเป็นที่กระทรวงการคลังต้องออกมาแสดงเจตนาให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นในรูปมติ ครม. หรือแรงกว่านั้น เพื่อให้ผู้ฝากเงินสบายใจ

“หลักการของสถาบันคุ้มครองเงินฝากต้องเก็บไว้ เพื่อเป็นการประกาศต่อธนาคารพาณิชย์ และผู้ฝากเงิน จะไม่ค้ำประกันเงินฝากในบัญชีที่เกิน 1ล้านบาท ซึ่งเป็นการสร้างวินัยการเงินที่ดี ทำให้ธนาคารพาณิชย์บริหารอย่างรัดกุมมากขึ้น ขณะที่ผู้ฝากจะเลือกฝากเงินกับธนาคารที่มีคุณภาพดี มั่นใจได้ ทุกอย่างจะได้ไม่เป็นภาระหนี้ของประเทศชาติอย่างที่เคยเกิดขึ้นอย่างในอดีต”

ม.ร.ว.ปรีดียาธร กล่าวต่อว่า 2.การให้สถาบันการเงินนำส่งเงินสมทบให้กองทุนคุ้มครองเงินฝาก ตามที่ ธปท.กำหนด จากปัจจุบัน 0.4% เป็น 1% นั้น นับเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งถ้าเก็บในอัตราเต็มที่ แบงค์พาณิชย์ย่อมไม่มีทางเลือกที่จะต้องผลักภาระ โดยการลดดอกเบี้ยเงินฝาก หรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งการเก็บเพิ่มอีก 0.6%นั้นจะกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างแน่นอน ทั้งนี้ แม้เชื่อว่ากระทรวงคลังไม่ได้ตั้งใจจะผลักภาระทั้งหมด แต่เมื่อผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ระบุ ถ้าเก็บได้เต็มที่จะช่วยชำระหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวน่ากลัว

“ทางแก้คือ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังต้องชี้แจงต่อธนาคารพาณิชย์ว่าเจตนาคืออะไร หากต้องการชำระหนี้ภายใน 25 ปี การเก็บเงินเพิ่มอีก 0.2% เชื่อว่าสามารถอยู่ได้ ทั้งนี้ ธนาคารจะได้ไม่ตกอยู่ในอาณาจักรแห่งความกลัว เพราะขณะนี้ ทุกคนกลัวตัวเลข 0.6%ทั้งสิ้น และถามว่า ใครจะปล่อยให้ธนาคารตัวเองล้ม ส่วนที่กระทรวงการคลังมีมาตรการลดภาษีนิติบุคคลนั้น แม้สามารถช่วยเหลือได้รับดับหนึ่ง แต่สุดท้ายถ้าเรียกเก็บเงินเต็มอัตราก็ไม่สามารถช่วยได้”

อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.ปรีดียาธร กล่าวถึงความจำเป็นในการออก พ.ร.ก.ของรัฐบาลด้วยว่า กรณีร่าง พ.ร.ก. แก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย จัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟโลน) นั้นเป็นเรื่องเร่งด่วน ต้องมีการปลดล็อก ไม่เช่นนั้นคงไม่มีธนาคารพาณิชย์กล้าปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ส่วนการ พ.ร.ก.โอนนี้ เพื่อต้องการลดยอดหนี้สาธารณะ 41% ของจีดีพีให้ลดลงเหลือ 31% เพื่อสร้างช่องว่างในการกู้เงินเพิ่มนั้น ไม่มีเหตุผล เพราะหนี้เดิมยังเป็นหนี้ในนามของกระทรวงการคลังอยู่ ยอดหนี้สาธารณะจึงเป็นจำนวนเท่าเดิม ฉะนั้น จึงฟังดูเป๋ไป๋

ม.ร.ว.ปรีดียาธร กล่าวด้วยว่า พ.ร.ก. โอนหนี้ฉบับดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะเป็นโมฆะ เพราะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับน้องน้ำเลย ซึ่งหากตกเป็นโฆษะจริงรัฐบาลคงถึงขั้นต้องลาออก อีกทั้งตนไม่อยากให้มีรัฐบาลใหม่ เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

สำหรับกรณีเงินสำรองระหว่างประเทศนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ตามทฤษฎีเงินสำรองไม่ควรแตะ เพราะเป็นสมบัติสุดท้ายของประเทศชาติ ทำให้คนเชื่อมั่น แต่กับเงินทุนสำรองส่วนเกิน สามารถแตะได้ โดยตัวเลขเงินในระบบล่าสุดอยู่ที่ 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ  โดยมีส่วนเกินบางส่วนหรือผลประโยชน์ที่สามารถนำออกมาใช้ได้  ซึ่งก็มีข้อแม้ต้องมีการทำความตกลงกันให้ดี คุยกันให้จบไปขออนุญาตศิษยานุศิษย์ของหลวงตามหาบัว

ขณะที่ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ประสิทธิ์ กล่าวว่า ในข้อกฎหมายนั้น พ.ร.ก.4 ฉบับไม่น่าจะขัดรัฐธรรมนูญ แต่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาในเรื่องความถูกต้องเหมาะสม ทั้งนี้ ในส่วนของข้อกฎหมายไม่มีใครกล้าฟัน คงเป็นเรื่องที่องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญต้องไปชี้ขาด

ในส่วนของมาตรา 7 (3) พ.ร.ก.โอนหนี้ เมื่อรัฐบาลมีการทบทวน รวมทั้งหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้สถานการณ์เบาลงและบ้านเมืองเย็นขึ้นด้วย ส่วนหลังจากที่มีการเสนอไปแล้ว ผลจะเป็นอย่างไรนั้น รบ. ทำไปแล้วคงต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง