โรงเรียนดนตรีอัฟกันหลังสงคราม

Logo Thai PBS
โรงเรียนดนตรีอัฟกันหลังสงคราม

แม้สงครามที่ยืดเยื้อไม่จบสิ้นจะทิ้งความสูญเสียให้ประเทศอัฟกานิสถาน แต่ยังมีครูกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่ยอมแพ้ใช้ดนตรีจุดประกายความฝันความหวังให้เด็กชาวอัฟกัน

เสียงร้องเพลงประสานกันของเด็กๆ ห้องเรียนซิต้าร์ เครื่องดนตรีพื้นเมืองของอินเดีย หรือการบรรเลงเพลงคลาสสิคด้วยเปียโน คือเสียงที่จะได้ยินทั่วไปตลอดอาคาร 2 ชั้น ในสถาบันดนตรีเพียงแห่งเดียว ใจกลางกรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน ที่ซึ่งนักเรียนกว่าครึ่งมาจากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า และใช้ชีวิตข้างถนน แต่ผ่านการคัดเลือกให้เข้ามาเรียนได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

โรงเรียนดนตรีแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน โดยใช้โรงเรียนศิลปะที่ปิดตัวระหว่างสงครามกลางเมืองในยุค 90 ซึ่งในสมัยรัฐบาลตาลีบันดนตรีทุกชนิดกลายเป็นสิ่งต้องห้ามเนื่องจากขัดกับหลักศาสนา  ถึงแม้ทุกวันนี้ในกรุงคาบุลจะเริ่มมีเสียงเพลงกลับมาแล้ว และนักเรียนดนตรีที่นี่ทุกคนจะได้รับทุนสนับสนุนจากต่างประเทศผ่านกระทรวงศึกษาธิการ แต่ความยากจนยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเรียน

การมีเปียโนไว้ฝึกซ้อมเพลงของโชแปง คือความฝันที่ไม่มีทางเป็นความจริงของ Sayed Elham วัย 13 ปีเพราะต้องใช้เงินถึงเงินสามพันดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าค่าแรงเฉลี่ยตลอดทั้งปีชาวอัฟกานิสถานถึง 6 เท่า Irfan Mohammad Khan หนึ่งในครู 16 คนของโรงเรียนดนตรีแห่งนี้ยอมรับว่านักเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากครอบครัวที่มีฐานะ การซื้อเครื่องดนตรีไว้ที่บ้านกลายเป็นเรื่องเกินกำลัง จึงซ้อมเล่นได้เพียงที่โรงเรียนเท่านั้น

ถึงจะลำบาก แต่การเรียนก็จุดประกายความฝันนักดนตรีให้เด็กหลายคน เช่น Sayed Elham อยากเรียนต่อด้านนี้ให้สูงขึ้นถึงปริญญาเอก หรือ ฟาติมา จากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าคาบูล ที่หวังว่าจะยึดอาชีพนักซิตาร์ในอนาคต โดย Nisar Ahmad Sarmast ผู้อำนวยการสถาบันดนตรีแห่งชาติ กล่าวว่า เสียงดนตรีที่กลับมาอีกครั้งในอัฟกานิสถาน คือหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่ดีที่สุดชาวอัฟกันยุคหลังรัฐบาลตาลีบัน โดยเขาเป็นคนหนึ่งที่กลับเข้าประเทศเมื่อ 4 ปีก่อน เพื่อเริ่มภารกิจสร้างโรงเรียนดนตรีแห่งนี้ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง และหวังว่าเด็กที่เรียนจบไปจะร่วมกันตั้งวงซิมโฟนีออร์เคสตร้าแห่งชาติได้ในไม่ช้า


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง