อธิบดีกรมควบคุมโรค แนะวิธีซื้อสัตว์ปีกป้องกันโรค

สังคม
17 ม.ค. 55
09:28
10
Logo Thai PBS
อธิบดีกรมควบคุมโรค แนะวิธีซื้อสัตว์ปีกป้องกันโรค

อธิบดีกรมควบคุมโรค แนะวิธีเลือกซื้อสัตว์ปีก เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัยจากโรค โดยผู้บริโภคที่จะซื้อสัตว์ปีกมาชำแหละเองต้องเลือกสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่สะอาดและปลอดภัย ไม่มีสิ่งปนเปื้อน

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แนะนำวิธีเลือกซื้อสัตว์ปีกเบื้องต้น 7 ข้อ เพื่อให้ลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัยจากโรค

1. เลือกซื้อเป็ดไก่ ที่ดูสดใหม่ เนื้อไม่มีสีคล้ำ ผิวหนังหรือเครื่องในไม่มีจ้ำเลือด
2. ไข่ไก่และไข่เป็ด เลือกฟองที่ดูสดใหม่ และไม่มีมูลติดเปื้อนที่เปลือกไข่ และควรล้างให้สะอาดก่อนปรุงอาหาร
3. ขณะประกอบอาหาร ไม่ควรใช้มือที่เปื้อนจับจมูก ตา และปาก และหมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังจับเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ และเปลือกไข่ที่มีมูลสัตว์เปื้อน
4. แยกเขียงสำหรับหั่นอาหารดิบ อาหารที่ปรุงสุกแล้ว หรือผักผลไม้โดยเฉพาะ ไม่ใช้เขียงเดียวกัน
5. เนื้อไก่ เป็ด และไข่ไก่ ไข่เป็ด ที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดถือว่ามีความปลอดภัย สามารถบริโภคได้ตามปกติ แต่ต้องปรุงให้สุกก่อนรับประทาน ไม่ควรรับประทานแบบกึ่งสุกกึ่งดิบ และควรเลือกซื้อเป็ด ไก่ที่ผ่านการรับรองจากกรมปศุสัตว์ โดยสังเกตได้จากสายรัดขาสัตว์ปีก ที่ระบุข้อความและหมายเลขของกรมปศุสัตว์
6. ไก่และเป็ดที่ขายในท้องตลาด เพื่อใช้ในพิธีเซ่นไหว้ในช่วงตรุษจีน มักนิยมต้มแบบไม่ให้สุกมากนัก ดังนั้นก่อนนำมารับประทาน ควรนำมาปรุงให้สุกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและมั่นใจในการนำไปบริโภค
7. ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ปีก ไม่ควรสัมผัสสัตว์ปีกด้วยมือเปล่า หากจำเป็นต้องอุ้มสัตว์ปีกให้ระวังไม่ให้สัตว์ปีกสัมผัสกับหน้า จมูก หรือปาก ไม่สัมผัสสารคัดหลั่งจากสัตว์ปีก เช่น น้ำมูก หรือน้ำลาย และต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่หลังจับสัตว์ปีกทันที

ส่วนผู้บริโภคที่จะซื้อสัตว์ปีกมาชำแหละเอง ต้องเลือกสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่สะอาดและปลอดภัย ไม่มีสิ่งปนเปื้อนและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ควรเลือกสถานที่ที่มีการติดป้าย “ตลาดสด น่าซื้อ” หรือ “ป้ายรับรองสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์สะอาด (เขียงสะอาด)” ที่ติดไว้หน้าร้านจำหน่าย เพื่อความมั่นใจแก่ประชาชนที่เลือกซื้ออาหารสำหรับนำไปประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ และความปลอดภัยในเรื่องการบริโภคสัตว์ปีก และหากประชาชนมีอาการ ไข้ ปวดหัว หนาวสั่น เจ็บคอ ไอ มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายผิดปกติ ภายใน 7 วัน ต้องรีบไปสถานพยาบาลโดยเร็ว เพื่อรับการตรวจคัดกรองและรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโรค ได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร 1422


ข่าวที่เกี่ยวข้อง