ศิลปะบนโปสเตอร์โอลิมปิก

Logo Thai PBS
ศิลปะบนโปสเตอร์โอลิมปิก

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่จัดขึ้นทุก 4 ปีมานานนับศตวรรษ ย่อมผ่านเหตุการณ์สำคัญทั้งทางการเมือง และวัฒนธรรม สะท้อนออกมาในโปสเตอร์โอลิมปิก ที่เป็นเหมือนการสำรวจสังคมผ่านศิลปะทุก 4 ปี

หลายคนอาจคุ้นตากับภาพกระป๋องซุปหรือมาริลีนมอนโร แต่ผู้บุกเบิกศิลปะยุคใหม่อย่างแอนดี้ วอร์ฮอล ยังเคยฝากฝีมือไว้กับโปสเตอร์ประจำงานโอลิมปิกปี 1983 เช่นเดียวกับการออกแบบของศิลปินอีกหลายคนในยุคเฟื่องฟูของป็อบอาร์ต ทั้งรอย ลิเคนสไตน์ และเดวิด ฮอคนีย์ จัดวางประชันผลงานต่างสถานที่ ต่างเวลาในนิทรรศการรวมโปสเตอร์โอลิมปิก ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์สังคม และแง่มุมทางวัฒนธรรมที่ซ่อนไว้มากมาย ภายใต้ศิลปะการออกแบบโปสเตอร์ประจำงานทุกสี่ปี

โปสเตอร์โอลิมปิกกำเนิดขึ้นในกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 5 ซึ่งยุคที่ยังไม่มีโทรทัศน์และวิทยุ การใช้สิ่งพิมพ์ จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการประชาสัมพันธ์ โดยโปสเตอร์ในยุคแรกๆ ยังเห็นได้ชัดว่าคงตามธรรมเนียมภาพประชาสัมพันธ์งานแข่งขันกีฬา แต่การสื่อสารที่พัฒนาขึ้นในยุคต่อมา ทำให้โอลิมปิกเป็นที่รู้จักและมีผู้ติดตามอย่างคุ้นเคยไปทั่วโลก จนในที่สุดก็เลิกระบุวันเวลา และเอกลักษณ์ของเมืองที่จัดไปในปี 1932 และหันไปเน้นความเป็นศิลปะมากขึ้น

การออกแบบยังแฝงไปด้วยกลิ่นไอยุคสมัย และบริบทสังคมของประเทศเจ้าภาพ เช่น โปสเตอร์ของเม็กซิโกในปี 1968 เป็นการใช้ลวดลายดั้งเดิมของถิ่นละตินอเมริกันมาผสมกันเป็นตัวอักษร และมักถูกพูดถึงคู่กับโปสเตอร์การประท้วงสิทธิเสรีภาพของคนผิวสีในการแข่งขัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่โด่งดังที่สุดในปีนั้น หรือของกรุงมอสโคว์ ในสมัยที่รัสเซียยังเป็นสหภาพโซเวียต ก็โดดเด่นด้วยการใช้องค์ประกอบทั้งสีแดงและดาว อันเป็นสัญลักษณ์ของคอมมิวนิสต์

ในขณะที่ยุคหลังปี 2000 จะหันไปเน้นเรื่องของความแตกต่างหลากหลาย เช่นของกรุงลอนดอนในปีนี้ ใช้ภาพห่วงโอลิมปิกนับไม่ถ้วน คล้ายรอยน้ำของก้นขวดเมื่อนักกีฬานานาชาติมารวมตัวกันในที่ใดที่หนึ่ง หรือขาของหญิงสาวบนสระว่ายน้ำพื้นหลัง สื่อถึงระบำใต้น้ำ กีฬาประเภทเดียวที่กำหนดให้ผู้หญิงลงแข่งขัน และมีปัจจัยด้านศิลปะมาเกี่ยวข้องในการตัดสิน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง