"ดัชนีเติบโตของสังคม" 10 กลยุทธ แก้ปัญหาวิกฤตเด็ก ครอบครัวไทยในโลกาภิวัฒน์

สังคม
18 ม.ค. 55
14:55
17
Logo Thai PBS
"ดัชนีเติบโตของสังคม" 10 กลยุทธ  แก้ปัญหาวิกฤตเด็ก ครอบครัวไทยในโลกาภิวัฒน์

โดย นพ.สุริยเดว ทรีปาตี

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ 3 ครั้งที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีจำนวนและสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยในปี 2537 มีจำนวนผู้สูงอายุ คิดเป็นร้อยละ 6.8 ของประชากรทั้งประเทศ ปี 2545 เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 9.4 ผลสำรวจ ครั้งล่าสุดปี 2550 พบว่าผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10.7 โดยเป็นชายร้อยละ 44.6 และเป็นหญิงร้อยละ 55.4  และพบแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของสัดส่วนระหว่างผู้สูงอายุกับเด็ก จากเดิมในปี 2537 ประเทศไทยมีประชากรวัยสูงอายุไม่ถึง 1 ใน 4 ส่วน ของประชากรวัยเด็ก

ล่าสุดในปี 2550 ประเทศไทยมีสัดส่วนของประชากรวัยสูงอายุเพิ่มมากขึ้นจนเกือบจะเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรวัยเด็กคือ 47.7  ซึ่งจะทำให้โครงสร้างครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปที่จะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นและเด็กลดลง ส่งผลต่อการปฏิบัติและการสร้างสัมพันธภาพในครอบครัว จากการที่ดูแลเด็ก ต้องมาเพิ่มการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น  

 รายงานสถานการณ์ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของสังคมไทย ปี 2545-2549 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าสถาบันครอบครัวไทยเผชิญกับปัญหาการขาดความตระหนักในบทบาทหน้าที่และมีความแตกแยก กระทบให้ความอบอุ่นของครอบครัวไทยอยู่ในระดับต้องเร่งแก้ไขโดยดัชนีครอบครัวอบอุ่นได้ลดลงอย่างต่อเนื่องในตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จากร้อยละ 66.09 ในปี 2545 เหลือเพียงร้อยละ 62.42 ในปี 2549  สาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมในการดำรงชีวิตครอบครัวที่ยึดติดค่านิยมทางวัตถุ มากกว่าการพัฒนาคุณภาพของสมาชิกในครอบครัว โดยอัตราการจดทะเบียนหย่าได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก

ครอบครัวเดี่ยวมีปริมาณเพิ่มขึ้นโดยในขณะนี้ร้อยละ10 ของครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยวและในจำนวนนี้ร้อยละ30   เป็นครอบครัวเดี่ยวประเภทที่แม่เป็นผู้ปกครองเพียงคนเดียว และอีกร้อยละ30 เด็กวัยรุ่นต้องใช้ชีวิตตามลำพัง สภาพครอบครัวของเด็ก 0-5 ปีที่พ่อแม่ยังอยู่ด้วยกัน มีร้อยละ 85.5 แยกกันอยู่ หย่าร้าง หรือหม้าย ร้อยละ 14.0 แนวโน้มพ่อแม่วัยรุ่นที่หย่าร้างมีเพิ่มมากขึ้น และพ่อแม่มีการหย่าร้างมากขึ้นเมื่อเด็กโตขึ้น ปัญหาที่ก่อให้เกิดภาวะวิกฤติในครอบครัว คือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ การทะเลาะหย่าร้างหรือแยกทางกัน และปัญหาการตั้งครรภ์และเลี้ยงดูบุตร  สถานการณ์การเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย อายุ 0-5 ปี แม่เป็นผู้ดูแลเป็นหลักร้อยละ 66.0

การสำรวจสภาวะสุขภาพ พัฒนาการ และการเจริญเติบโตของเด็กปฐมวัย ในปี 2542 รายงานว่า เด็กปฐมวัยได้รับการดูแลโดย แม่หรือพ่อในตอนกลางวันร้อยละ 54.8  ปู่ย่าตายายเลี้ยงแทนพ่อแม่ร้อยละ 23.4  ร้อยละ 10 ถูกนำไปฝากเลี้ยงที่ศูนย์เด็กเล็ก ที่เหลือเป็นการดูแลโดยญาติหรือคนอื่นๆ รายงานของกรมประชาสงเคราะห์ในปี 2538 พบว่าพ่อแม่ต้องแยกกันอยู่นานมากกว่า 3 เดือนถึงร้อยละ 16.8 ทำให้แม่หรือปู่ย่าตายายต้องรับภาระในการเลี้ยงดูเด็กตามลำพังมากขึ้น นอกจากนี้พบว่าเด็กอยู่กับญาติหรืออยู่กันเองพี่น้องไม่มีญาติอยู่ด้วยร้อยละ 8.2

ด้านวัยรุ่นจากการการวิจัยข้อมูลอัตราการตายของวัยรุ่นทั่วโลก กับสถิติในภูมิภาคต่างๆ โดยได้รับข้อมูลจาก Global Burden of Disease study in young people 2004 ( ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet 2009; 374: 881–92 ) ซึ่งเก็บข้อมูลใน 192 ประเทศที่มีข้อมูลด้าน Demographic Health survey และข้อมูลจาก Unicef  พบว่า ประชากรวัยรุ่นอายุ 10-24 ปี มีทั้งหมดประมาณ 1.8 พันล้านคน และมีอัตราตาย 2.6 ล้านคนต่อปี โดยที่เกิดขึ้นมากที่สุดใน โซน South East Asia  ประมาณ 35% รองลงมาคือ โซนAfrica ประมาณ 28%  ( 2 โซนนี้รวมกันเท่ากับ 63%  เรียกว่า 2/3 ของอัตราการตายวัยรุ่นทั่วโลกเกิดขึ้นในโซนนี้)

ในขณะที่ประเทศที่เจริญแล้ว(Developed countries) มีอัตราการตายประมาณ 3% โดยพบว่าภาวะเสี่ยงที่มากที่สุดในโซนอัฟริกา มากกว่าประเทศที่เจริญแล้ว 7 เท่า  อัตราตายในวัย 20-24 ปีมีสถิติมากที่สุด มากกว่าวัย 15-19 ปี  2.4 เท่า วัยรุ่นชายตายมากกว่าวัยรุ่นหญิงในทุกกลุ่มอายุ ทุกภูมิภาคยกเว้นในโซน South East Asia  และ โซนAfrica ที่มีการตายของวัยรุ่นหญิงเกิดจากวัยรุ่นเป็นมารดาตาย 15% และ11% ตายจากโรคติดต่อโดยเฉพาะโรคเอดส์ สำหรับวัยรุ่นผู้ชายมักตายจากอุบัติเหตุมากที่สุด 14% และ 12% ตายจากความรุนแรง
 
กลุ่มประเทศรายได้ต่ำหรือปานกลาง มีภาวะเสี่ยงต่อการตายในวัยรุ่นมากกว่ากลุ่มประเทศที่ร่ำรวย(มากกว่า 4 เท่า) ในประเทศที่รายได้ต่ำหรือปานกลาง มีความเสี่ยงต่อการตายในวัยรุ่นผู้หญิง 5.6 เท่ามากกว่ากลุ่มประเทศที่ร่ำรวย 2 เท่า (ความเสี่ยงต่อการตายในวัยรุ่นหญิง ในกลุ่มประเทศร่ำรวยท่ากับ 2.8 เท่า)

เมื่อดุข้อมูลสาเหตุการตายกลุ่มต่างๆ แยกตามภูมิภาค และวิเคราะห์ข้อมูลเจาะลึกเฉพาะในโซน South East Asia  วัยรุ่นหญิงมีอัตราการตายมากกว่าวัยรุ่นชายในทุกกลุ่มอายุ ในขณะที่วัยรุ่นชายอัตราการตายจะเกิดจากสาเหตุอุบัติเหตุมากที่สุด ประมาณ 51% และมีอัตราเพิ่มน่ากลัวมากจากวัยรุ่นตอนต้น 10-14 ปี ที่ตาย 36 ต่อแสนต่อปี เป็น 141 ต่อแสนต่อปี ในเยาวชนอายุ 20-24 ปี

อัตราการตายในวัยรุ่นหญิง โดยเฉพาะสาเหตุจากมารดา  และโรคติดต่อ ซึ่งมี HIV/AIDS รวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะในภูมิภาค SEA เป็น ตัวสะท้อนอย่างดี ที่จะต้องให้ความสำคัญเนื่องจากเป็น 1 ในตัวชี้วัดของ Millennium Developmental Goal (MDG)ลำดับที่ 5 ซึ่งเท่ากับว่าในภูมิภาคนี้ต้องเน้น Sexual และ Reproductive health series ในวัยรุ่นมากขึ้นและเนื่องจากการตายมักเกิดจากการทำแท้ง แสดงให้เห็นถึง กลยุทธด้าน Safe sex และการทำแท้งอย่างปลอดภัย ต้องมีรูปธรรมชัดเจนและเชิงรุกมากขึ้น

ในขณะที่วัยรุ่นชาย 40% ตายจากอุบัติเหตุ ทำให้ต้องเน้นกลยุทธ injury prevention program อย่างแพร่หลายรวมทั้งกฎหมาย กติกา มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น การรัดเข็มขัดนิรภัย หมวกกันน็อค อายุที่ขับขี่ การขับขี่ รวมทั้งกฎจราจร และการไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
 

10 กลยุทธ ในการแก้ปัญหา วิกฤตเด็ก เยาวชนและครอบครัวไทย
1. เกิดระบบพี่เลี้ยง/ที่ปรึกษาของเด็กๆในชุมชน
 2. เกิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวในทุกชุมชน
3. มีฝ่ายงานด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัวประจำอบต.
4. ศูนย์เฝ้าระวัง(ขจัดร้าย ขยายดี สร้างภูมิคุ้มกัน : เรียกว่า ดัชนีสังคม) ปัญหาสังคมด้านเด็ก เยาวชน
    ครอบครัวประจำจังหวัด
5. เพิ่มศักยภาพระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนด้วยต้นทุนชีวิต แนวคิดเชิงบวก
6. เกิดศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครอง(ห้องเรียนพ่อแม่)ในการดูแลบุตรหลาน
7. กองทุนเด็ก เยาวชนและครอบครัว
8. สื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว
9. เกิดสถาบันทางวิชาการด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว โดยมีภารกิจหลักในการช่วยกำหนด
    ทิศทางให้กับประเทศ และการพัฒนาผู้ที่ทำงานด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว
10.เกิดคณะรัฐมนตรีด้านสังคม และมีการประเมินด้วยดัชนีสังคมต่อปี (ควบคู่กับ GDP ที่ประเมิน
    รายได้ประชากร ว่าปีนี้ปีหน้ามีแนวโน้ม ดัชนีสังคม จะเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซนต์)


ข่าวที่เกี่ยวข้อง