อิหร่าน โต้อียู ไม่กังวลการคว่ำบาตร ย้ำสามารถหาลูกค้ารายใหม่มาซื้อน้ำมันได้

ต่างประเทศ
24 ม.ค. 55
15:26
10
Logo Thai PBS
อิหร่าน โต้อียู ไม่กังวลการคว่ำบาตร ย้ำสามารถหาลูกค้ารายใหม่มาซื้อน้ำมันได้

อิหร่านระบุไม่กังวลต่อมาตรการคว่ำบาตรชุดใหม่ของอียู โดยระงับการซื้อน้ำมันจากอิหร่าน เพื่อเพิ่มแรงกดดันให้อิหร่านยุติการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ ย้ำไม่มีผลกระทบ ยืนยันสามารถหาลูกค้ารายใหม่มาทดแทนได้

กระทรวงน้ำมันของอิหร่านออกแถลงการณ์แสดงท่าทีต่อมาตรการคว่ำบาตรชุดใหม่ของอียูว่า น้ำมันที่ส่งไปขายให้กับยุโรป มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 18 ของการส่งออกเท่านั้น และเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ตลาดขณะนี้ อิหร่านไม่มีความกังวล เพราะเชื่อว่าสามารถหาลูกค้ารายใหม่มาทดแทนได้

ก่อนหน้านี้ กระทรวงน้ำมันของอิหร่านก็เคยเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายมาแล้ว  ทั้งนี้อียูถือเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 รองจากจีน ขณะที่การส่งออกน้ำมันของอิหร่านร้อยละ 65 อยู่ในประเทศแถบเอเชีย ซึ่งรัสเซียและจีน แสดงความเห็นว่ามาตรการนี้ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับอิหร่านมากนัก เพราะจีนและชาติเอเชียจะหันมาซื้อน้ำมันจากอิหร่านมากขึ้น ทดแทนแรงซื้อจากยุโรปที่หายไป
 
ทั้งนี้มาตราการคว่ำบาตรชุดล่าสุดของอียูมีคำสั่งห้ามสมาชิก 27 ประเทศ นำเข้าน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจากอิหร่าน โดยให้มีผลบังคับใช้ทันที แต่สำหรับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ทำไปแล้วก่อนหน้านี้อนุญาตให้ซื้อขายได้ ซึ่งวันที่ในสัญญาซื้อขายจะต้องไม่เกินวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ นอกจากนี้ชาติสมาชิกยังเห็นชอบให้อายัดทรัพย์สินของธนาคารกลางอิหร่าน ห้ามซื้อขายทองคำและโลหะมีค่ากับธนาคารหรือองค์กรของรัฐบาลอิหร่านด้วย
 
มาตรการดังกล่าวส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยน้ำมันดิบเบรนท์ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือนมีนาคมปรับตัวสูงขึ้น 72 เซนต์ อยู่ที่ 110.58 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ด้านนักวิเคราะห์ตลาดน้ำมันระบุว่า ผลกระทบกับราคาน้ำมันจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับท่าทีของรัฐบาลอิหร่าน รวมถึงต้องดูว่าประเทศผู้ผลิตน้ำมันเป็นสินค้าส่งออก จะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อทดแทนส่วนของอิหร่านที่หายไปจากตลาดได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก ซึ่งก่อนหน้านี้ซาอุดิอาระเบียเคยเสนอให้ใช้โควต้าการผลิตน้ำมันที่เหลืออยู่ เพื่อชดเชยน้ำมันจากอิหร่านซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อับดับ 2 ของโลก
 
อย่างไรก็ดีประเทศที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างชัดเจนในตอนนี้คือประเทศกรีซ, อิตาลี และสเปน ซึ่งต้องพึ่งพาน้ำมันนำเข้าจากอิหร่าน ทั้งนี้มาตรการคว่ำบาตรของอียูต่ออิหร่านมีขึ้นเพื่อกดดันให้อิหร่านยุติโครงการพัฒนานิวเคลียร์ ซึ่งชาติตะวันตกเชื่อว่าเป็นโครงการบังหน้าเพื่อพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ขณะที่อิหร่านยืนยันว่าเป็นการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อสร้างพลังงานรองรับการพัฒนาประเทศ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง