รมว.สธ.อ้างยังไม่เห็นหนังสือลาออกบอร์ด สปสช.

สังคม
27 ม.ค. 55
13:59
5
Logo Thai PBS
รมว.สธ.อ้างยังไม่เห็นหนังสือลาออกบอร์ด สปสช.

รมว.สาธารณสุข อ้างว่ายังไม่เห็นหนังสือลาออกของ "วรานุช" กรรมการบอร์ด สปสช.ที่ยื่นลาออกจากตำแหน่ง

นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ชี้แจงถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการคัดเลือกอนุกรรมการ 12 คณะของที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่าเป็นการเลือกด้วยสัดส่วนไม่เหมาะสม โดยยืนยันว่า ดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนและระเบียบของ สปสช. รวมทั้งมีความโปร่งใส พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายล้มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามแผนบันได 4 ขั้น ตามที่หลายฝ่ายหวาดระแวงแต่อย่างใด แต่กลับจะพัฒนาให้ดีขึ้น

ส่วนกรณีนางวรานุช หงสประภาส อดีตที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลังในบอร์ด สปสช. ได้ยื่นใบลาออกจากกรรมการ สปสช.และประธานคณะอนุกรรมการการเงินการคลังนั้น นายวิทยาระบุว่า ยังไม่เห็นหนังสือลาออก โดยขอดูรายละเอียดในเรื่องนี้อีกครั้ง พร้อมกันนี้ ขอให้ตัวแทนภาคประชาชนที่ร่วมเป็นกรรมการบอร์ด สปสช.ยุติปัญหาต่างๆ และร่วมกันขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เดินหน้า เพื่อประโยชน์ของประชาชน การแสดงความเห็นใดๆ ถือเป็นสิทธิ์ เพียงแต่อย่าให้เกิดความเข้าใจผิด

รายงานข่าวยืนยันว่า นางวรานุช หงสประภาส ยื่นหนังสือลาออกจากกรรมการบอร์ด สปสช.ให้กับนายวิทยาแล้ว แต่นายวิทยาได้ยับยั้งเรื่องนี้ไว้ โดยจะขอเจรจาทำความเข้าใจกับนางวรานุชอีกครั้ง เพราะหากอนุมัติให้นางวรานุชลาออกจากกรรมการบอร์ด สปสช.จริง ก็จะทำให้การพิจารณางบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในปี 2556 ที่จะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเกิดความล่าช้า เนื่องจากการเลือกตั้งกรรมการบอร์ดคนใหม่แทนนางวรานุช จะต้องใช้เวลาเลือกตั้งประมาณ 1 เดือน

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ยืนยันว่า แม้รัฐบาลจะไม่มีแผนล้มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่สาระสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพได้ถูกลดทอนลงไป ไม่ล้มก็เหมือนล้ม เห็นได้จากการดำเนินการบันไดขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการแทรกแซง และหากนายกรัฐมนตรีไม่ลงมาแก้ปัญหานี้ด้วยตัวเอง ก็จะนำไปสู่บันไดขั้นที่ 3 เพิ่มค่าเหมาจ่ายรายหัวให้มากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนสาระสำคัญของกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในบันไดขั้นที่ 4 เห็นได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอให้รวมเงินเดือนระดับประเทศ นั่นทำให้กระทรวงสาธารณสุขไม่จำเป็นต้องกระจายบุคลากร และให้กระทรวงสาธารณสุขบริหารงบส่งเสริมป้องกันโรค โดยให้ผู้ตรวจราชการเป็นผู้บริหารงบประมาณในพื้นที่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง