บทเรียนนอกตำรา “สร้างคุณค่าทางจิตใจ”

30 ม.ค. 55
12:01
23
Logo Thai PBS
บทเรียนนอกตำรา “สร้างคุณค่าทางจิตใจ”

ใจคนลึก ยากหยั่งถึง แน่นอนคำกล่าวนี้ทำให้เห็นภาพของจิตใจมนุษย์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ แต่สิ่งที่แสดงออกมาย่อมเป็นส่วนหนึ่งของเบื้องลึกภายในจิตใจที่เผยให้เห็น หลายคนกล่าวว่าน้ำท่วมครั้งนี้ได้เห็นสิ่งดีที่เรียกว่า น้ำใจ แต่จะรู้ได้อย่างไรว่า น้ำใจนั้นไม่ได้แฝงมากับยาพิษ เพียงเพื่อธุรกิจการค้า แต่สำหรับการมาฟื้นฟูหลังน้ำท่วมที่ตำบลบางระกำ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม โดยความร่วมมือของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ครั้งนี้ จึงได้พบว่าน้ำใจที่มีนั้นสัมผัสและหยั่งถึงได้

“การช่วยเหลือเพื่อให้เกิดกำลังใจและทำให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้” นั่นเป็นคำบอกเล่าจาก อำนาจ ปิ่นโรจน์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 12 ตำบลบางระกำ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ที่แสดงความรู้สึกดีใจที่ได้รับการช่วยเหลือในการฟื้นฟูครั้งนี้ในตำบลของตน เพราะว่าจากสภาพน้ำท่วมที่นานหลายเดือน ชาวบ้านต้องอยู่ด้วยความลำบาก บ้านเสียหาย ต้นไม้ล้มตาย แม้ตอนนี้บางพื้นที่จะแห้งบางแล้ว แต่บางส่วนก็ยังคงต้องเร่งสูบน้ำออก 

“การช่วยครั้งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเรารู้สึกดีใจ ที่ได้รับความช่วยเหลือมาจากหลายพื้นที่ และหลายภาคส่วน ทำให้ชาวบ้านเขามีกำลังใจขึ้นมาเยอะเลย มีกำลังใจที่คนไทยด้วยกันไม่ทอดทิ้งกัน แม้จะอยู่ที่ไหน ไม่ว่าใกล้หรือไกลก็มาช่วยเหลือกันได้ ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือออกมากวาดถนน ตัดต้นไม้ ทำความสะอาดร่วมกับพี่น้องเครือข่ายที่ได้เข้ามาให้การช่วยเหลือ” การฟื้นฟูครั้งนี้นอกจากจะช่วยให้ชาวบ้านสะดวกแล้ว

ส่วนที่สำคัญคือเป็นกำลังใจให้ชาวบ้านบางระกำที่ลำบากน้ำท่วมขังนานเกือบ 3 เดือนเกิดขวัญและกำลังใจลุกยืนต่อสู้อีกครั้งแน่นอนว่าการได้รับความช่วยเหลือเมื่อทำให้ผู้รับรู้สึกดีและอิ่มใจแล้ว ผู้ให้ก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน เพราะสิ่งที่ให้ไปนั้นมาจากใจที่อยากช่วยเหลือ เช่นการได้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือของ น้องปาด อาทิตย์ แช่มซ้อย นักศึกษาคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม     
   
 “เรามากันตั้งแต่เช้า มากันประมาณ 100 คน เรารู้จากอาจารย์ว่าที่นี้จะมีการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำท่วม เราจึงร่วมเป็นส่วนหนึ่ง นอกเหนือจากเหตุผลเกี่ยวกับวิชาการเรียนพัฒนาชุมชนแล้ว เราคิดว่าอยากให้ความช่วยเหลือคนที่เขาเดือดร้อน”          

“ส่วนตัวเราก็ไปช่วยที่อื่นมาแล้วตอนน้ำท่วมสูง เราไปบางบัวทอง ลพบุรี อยุธยา ที่ไหนไปได้เราก็ไป ไปช่วยเก็บของตอนน้ำท่วมสูง ช่วยรับส่งคนให้เข้าออกให้ความสะดวก เราขับรถตัวเองไปกับพ่อ ไปนอนที่โน้นเลย พ่อเขาจะพาเราไป เรารู้สึกสงสารเขา เขาลำบากกันมาก ขนาดเราไปอยู่เราไปกินนอนอยู่กับน้ำ เรายังรู้สึกลำบากยิ่งถ้าเขาต้องอยู่หลายเดือนด้วยเขาจะลำบากแค่ไหน”“ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแหละพี่” คำกล่าวด้วยสายตามุ่งมั่นของชายที่มีหัวใจนักพัฒนาชุมชนกล่าวปิดท้ายการสนทนา

เช่นเดียวกับ น้ำฝน แสงขำ และสุภาพร พิทักษ์  นักศึกษาหญิงหัวใจนักพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “วันนี้อากาศร้อนแต่ก็ไม่เหนื่อยเพราะว่าทำไร่ ทำสวนอยู่ที่บ้านเหนื่อยกว่านี้เยอะ” นี่เป็นเพียงการสนทนาเริ่มต้นก็ทำให้ใครหลายคนต้องรู้สึกตื่นตันไม่มากก็น้อย ที่ได้ยินจากปากเด็กเยาวชนคนไทย ไม่เพียงแต่มีน้ำใจเท่านั้น หากแต่ยังมีหัวใจที่มุ่งมั่น อดทน แถมยังเป็นเด็กที่รู้จักช่วยเหลือทางบ้าน ทำไร่ ทำสวน และกล้าบอกได้อย่างเต็มปากเต็มคำไม่เพียงเท่านั้นทั้งสองคนยังบอกว่าความฝัน จากวันที่เดินจากบ้านมาคือการเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อไปพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองต่อไปในอนาคต“อยากเป็นผู้ใหญ่บ้าน หรือนักพัฒนาชุมชน

สิ่งที่อยากเห็นคืออยากเห็นคนในชุมชนและพ่อแม่ได้มีความสุข” หัวใจนักพัฒนาชุมชนน้อยๆ หลายดวงไม่เคยหยุดเดิน ก้าวไปบนทางแห่งความใฝ่ฝัน หากเพียงไม่นานเราคงได้เห็นเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ได้เติบโตเป็นต้นกล้าที่มีร่มใบ ให้ความเย็นสบายแก่คนในชุมชน อย่างที่เขาวาดหวังไว้    


ข่าวที่เกี่ยวข้อง