นักวิชาการประดิษฐ์รังเทียมช่วยการขยายพันธุ์ของนกเงือก

สังคม
14 ก.พ. 55
01:22
13
Logo Thai PBS
นักวิชาการประดิษฐ์รังเทียมช่วยการขยายพันธุ์ของนกเงือก

นกเงือกเป็นสัตว์อีกชนิดที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก เนื่องจากมันจะครองคู่เพียงคู่เดียวไปตลอดชีวิต นอกจากนั้น นกเงือกยังเป็นสัญลักษณ์แห่งป่าดงดิบด้วย เป็นสัตว์ที่เป็นดรรชนีบ่งชี้ความอุมสมบูรณ์ของผืนป่า แต่สถานภาพของนกเงือกในปัจจุบัน หลายชนิดค่อนข้างเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยเฉพาะนกเงือกที่พบในทางภาคใต้ เพราะป่าที่อยู่อาศัยถูกบุกรุกทำลายเพื่อปลูกยางพารา จนนักวิชาการต้องทดลองประดิษฐ์รังเทียมเพื่อช่วยการขยายพันธุ์ของนกเงือก

นักวิชาการด้านสัตว์ป่า และนักออกแบบผลิตภัณฑ์ ร่วมกันประดิษฐ์รังเทียม หรือโพรงเทียมสำหรับนกเงือกขึ้น เพื่อนำไปติดตั้งไว้ในผืนป่าอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส โดยโพรงเทียมนี้ทำจากวัสดุไฟเบอร์กลาส และได้รับการติดตั้งไปแล้ว 18 โพรง ทั้งนี้ จากการติดตามศึกษามาประมาณ 3 ปี พบว่านกเงือกที่สามารถปรับพฤติกรรมยอมรับโพรงเทียมยังมีอยู่ชนิดเดียว คือนกกก หรือนกกาฮัง ซึ่งเป็นนกเงือกขนาดใหญ่ โดยมีอัตราการเข้าใช้รังอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 3 ของรังที่ติดตั้ง แต่นกเงือกชนิดที่มีประชากรน้อย ซึ่งพบเฉพาะทางภาคใต้ ยังต้องทำการศึกษาเพิ่ม เพื่อให้นกยอมเข้าอยู่ในโพรงเทียม

ส่วนสาเหตุที่ต้องมีการสร้างโพรงรังเทียม เพราะต้นไม้ที่เหมาะแก่การสร้างรังของนกเงือก ต้องมีลำต้นใหญ่เพียงพอกับขนาดตัวของนกเงือก ที่เป็นนกขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันต้นไม้ใหญ่ก็ถูกลักลอบตัดโค่นไปมาก โดยทางเฉพาะทางภาคใต้ที่มีปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำสวนยางพารา

และในวันรักนกเงือก 13 กุมภาพันธ์ เมื่อวานนี้ ทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการจัดงาน รักแท้เพื่อรังเทียม โดยเชิญชาวชุมชนจากเทือกเขาบูโดที่ช่วยกันอนุรักษ์นกเงือกมาร่วมแลกเปลี่ยน ให้ความรู้ ซึ่งทางนักวิชาการ กล่าวว่า การสร้างความตระหนักให้คนท้องถิ่นเข้าใจถึงความสำคัญของนกเงือกเป็นวิธีการช่วยการอนุรักษ์ที่ได้ผลที่สุด โดยนกเงือกเป็นตัวสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ ต้นน้ำลำธารและพื้นที่เกษตรกรรมจนได้รับฉายาว่าราชินีแห่งป่าดงดิบ อีกทั้งยังเป็นตัวแทนของการรับผิดชอบหน้าที่ต่อครอบครัว เพราะเมื่อนกเงือกจับคู่แล้ว ก็จะดูแลกันไปจนตาย
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง