คนเหนือเขื่อนร้องน้ำท่วมปีละ 6เดือน รัฐไม่ดูแล

ภูมิภาค
20 ก.พ. 55
08:09
18
Logo Thai PBS
คนเหนือเขื่อนร้องน้ำท่วมปีละ 6เดือน รัฐไม่ดูแล

นายจงกล โนจา รองนายก อบต.ฮอด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ กล่าวขณะนำสื่อมวลชน  ลงพื้นที่สำรวจการจัดการลุ่มน้ำภาคเหนือ โดยโครงการสื่อสารสุขภาวะชุมชนชายขอบ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ว่า ทุกๆ ปี ช่วงน้ำหลาก พื้นที่บริเวณบ้านดงมะกอก บ้านดงดำ ต.ฮอด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ตั้งอยู่เหนือเขื่อนภูมิพล จะถูกน้ำท่วมหนักติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน เป็นประจำ ตั้งแต่ มิถุนายน ถึงมกราคม ทำให้ประมาณ 3,400 คน 1,000 ครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อนมาตลอด โดยพื้นที่ถังกล่าวได้ถูกรัฐบาลเวนคืนพื้นที่เพื่อสร้างเขื่อนมตั้งแต่พ.ศ.2507 ให้ราคาค่าเวนคืนไร่ละ 400-700 บาท เพื่อให้อพยพออกนอกพื้นที่ ซึ่งหลังจากสร้างเขื่อนเสร็จประมาณ 1 ปี พื้นที่บริเวณนี้ถูกน้ำท่วมเต็มบริเวณ แต่ต่อมาในปี 2508น้ำก็ลดลงจนหายไปจากบริเวณดังกล่าว เหลือเฉพาะพื้นที่อ่างเก็บน้ำที่เป็นตัวเขื่อนเท่านั้น ชาวบ้านจึงทยอยอพยพกลับมาอยู่ที่เดิม ซึ่งทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ไม่ได้ท้วงติงและห้ามปราม ปล่อยให้ชาวบ้านเข้ามาประกอบอาชีพเกษตรกรรม อาทิ ทำนา ปลูกลำใย ปลูกละหุ่ง เช่นเดิม จากนั้นชาวบ้านได้ขยายชุมชนเต็มพื้นที่จนสามารถตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ได้ มีงบประมาณมาสร้างถนนได้ เป็นต้น               

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ เกิดเหตุอุทกภัยใหญ่ขึ้น 6 ครั้ง คือพ.ศ.2507พ.ศ.2518 พ.ศ.2538 พ.ศ.2545 พ.ศ.2549 และ ล่าสุด พ.ศ.2554 โดยแต่ละครั้งน้ำจะท่วมสูงประมาณ 3 เมตร เป็นเวลานานไม่ต่ำกว่า 6 เดือน สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เกษตร บางครอบครัวถึงกับหมดตัว เมื่อชาวบ้านรวมกลุ่มกันเพื่อไปร้องขอให้ทางเขื่อนภูมิพล และ กฟผ.เข้ามาให้การช่วยเหลือ ก็ได้รับเพียงการช่วยเหลือเบื้องต้น เช่น ให้ถุงยังชีพ ส่วนค่าชดเชยอื่นๆ ทั้ง 2 หน่วยงานอ้างว่าชาวบ้านเข้ามาอยู่เอง ซึ่งได้ชดเชยด้วยการเวียนคืนพื้นที่แล้ว และพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของภาครัฐ ไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ ทั้งสิ้น        

“ปีไหนฝนเยอะ ทางเขื่อนภูมิพลก็จะปล่อยน้ำออกมาจากเขื่อน เพื่อเตรียมการรับมือกับน้ำฝนที่จะเข้ามาในช่วงฝนตกหนัก ช่วงที่ปล่อยน้ำชาวบ้านที่อยู่เหนือเขื่อนชาวบ้านก็จะโดนน้ำท่วมก่อนคนอื่น หลังจากนั้นเมื่อถือหน้าฝน น้ำก็ท่วมต่อเนื่องจากน้ำฝนติดต่อกันยาวนาน นอกจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบแล้ว คนในพื้นที่อื่นๆ แทบจะไม่ทราบถึงปัญหา เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ที่ถูกลืม”นายจงกลกล่าว และว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เมื่อได้รับผลกระทบก็ต้องอพยพไปอยู่ที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง แต่ทว่าเมื่อปี 2534 พื้นที่ในบริเวณนี้ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่อุทยาน ชาวบ้านจึงกลายเป็นผู้บุกรุกโดยปริยาย ก่อนหน้านี้ชาวบ้านไม่เคยต่อสู้ ได้แต่ก้มหน้ารับชะตากรรมเพราะคิดว่าเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของรัฐ จะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องรับสภาพให้ได้ ที่สำคัญไปเรียกร้องกี่ครั้งก็ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือ เพราะไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินใดๆ ทั้งสิ้น แต่ในแง่ของมนุษยธรรมอยากจะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นใจชาวบ้านบ้าง เพราะปัญหาทั้งหมดเกิดจากเขื่อน ชาวบ้านจึงไม่มีที่ทำกินและไม่มีที่อยู่“ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เคยต่อสู้เพราะไม่รู้ว่ามีช่องทางการต่อสู้อย่างไร นั่นเพราะเดิมแล้วชาวบ้านมักจะถูกจัดการโดยภาครัฐมาโดยตลอด ชาวบ้านก็มีหน้าที่ทำตามแผนขของรัฐเท่านั้น เมื่องบหมดก็ไม่ได้ทำอะไรต่อ เพิ่งมาในปี 2549 ที่ชาวบ้านเริ่มรวมตัวกันเพื่อเรียกร้อง โดยที่ผ่านมาชาวบ้านมีเพียงข้อเรียกร้อง แต่ไม่มีกระบวนการจากข้างล่าง”               

นายจงกล กล่าวอีกว่า สำหรับกระบวนการชุมชนที่เกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่เรียกประชุมผู้นำชุมชนเพื่อเก็บข้อมูล ทำข้อตกลงร่วมกันว่าปัญหาในท้องที่เป็นอย่างไร จากนั้นก็หาฉันทามติร่วมกันว่าแนวทางการแก้ปัญหาเป็นอย่างไร จากนั้นผู้นำชุมชนก็กลับไปจัดตั้งชาวบ้านด้วยการเรียกมาอบรม พร้อมกันนี้ยังได้มีการทำข้อมูลประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น เพื่อให้รู้จักรากเหง้า และใช้เป็นเครื่องยืนยันว่าชาวบ้านเป็นผู้บุกเบิกพื้นที่แห่งนี้ ไม่ได้เป็นผู้บุกรุก                  นายนิพันธ์ ทองคำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ฮอด กล่าวว่า ตั้งแต่เข้ามาบริหารพื้นที่ งบประมาณหมดไปกับการการแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก จนไม่เหลือไปพัฒนาในด้านอื่นๆ เลย เมื่อน้ำท่วมจบก็แก้ปัญหาภัยแล้งต่อ ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาเยียวยาหรือช่วยเหลืออย่างจริงจัง ชาวบ้านเคยรวมตัวกันเรียกร้องเพราะทนความยากลำบากไม่ไหว สิ่งที่ได้กลับมาคือถุงยังชีพเท่านั้น               

นายนิพันธ์ กล่าวว่า สิ่งที่ทุกคนต้องการคือ 1.อยากให้ช่วยยกระดับพื้นที่ถนนที่ถูกน้ำท่วมให้สูงขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเวลาน้ำท่วมจะสูงจากขอบถนนถึง 3 เมตร เส้นทางสัญจรถูกตัดขาดทั้งหมด 2.อยากให้คืนโฉนดที่ดินที่น้ำท่วมไม่ถึงแต่ถูกกฟผ.เวียนคืนไปก่อนหน้านี้ เพราะเวลานี้กฟผ.ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่เหล่านั้น แต่ชาวบ้านต้องการใช้ประโยชน์จริงๆนายมัย นวะโต อายุ 74 ผู้อาวุโสแห่งบ้านดงดำ กล่าวว่า เข้ามาทำกินและอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มาตั้งแต่อายุ 20 ปี ตอนนั้นยังไม่มีโครงการสร้างเขื่อน โดยมีที่ทำกินอยู่ประมาณ 6 ไร่ ใช้ทำนาซึ่งได้ผลผลิตดีมาก แต่เมื่อโครงการเขื่อนเข้ามา ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงผลกระทบและไม่มีเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูล พอน้ำท่วมก็ได้ชดเชยไร่ละ 3,000 บาท  เมื่อถูกเวียนคืนที่ดินก็อพยพไปบุกเบิกที่แห่งใหม่ ซึ่งห่างจากพื้นที่เดิมประมาณ 3กิโลเมตร ใช้ปลูกถั่วลิสงและละหุ่ง หลังจากนั้นชาวบ้านที่เคยอพยพออกจากพื้นที่เห็นว่าหลังจากปี 2508 น้ำก็ไม่ได้ท่วมอย่างรุนแรงเหมือนที่เคยพบ จึงอพยพกลับมาทำนาในพื้นที่เดิม แต่ช่วงหลังนอกจากที่นาเดิมน้ำท่วมแล้ว ถนนหนทางก็ถูกน้ำท่วมหนัก ไม่ต่ำกว่า 3 เมตรทุกครั้ง นอกจากสิ้นเนื้อประดาตัวแล้ว การเดินทางไปไหนมาไหนก็ลำบากมากด้วยนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคเสถียร กล่าวว่า หลายพื้นทีแม้ชาวบ้านจะเข้าไปอยู่อาศัยและทำกินโดยไม่มีกฏหมายรองรับ แต่ในเรื่องของสิทธิความเป็นธรรมและมนุษยธรรมแล้วโดยหน้าที่รัฐบาลก็มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องช่วยเหลือเยียวยาและดูแล ไม่ใช่อ้างว่าไม่มีกฏหมายรองรับแล้วปล่อยปละละเลย เหมือนที่ทำกับคนเหนือเขื่อนกลุ่มนี้

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง