ทนายความเตรียมยื่นอุทธรณ์"คดีอากง" ขอประกันตัว โดย 7 นักวิชาการ

อาชญากรรม
21 ก.พ. 55
10:51
5
Logo Thai PBS
ทนายความเตรียมยื่นอุทธรณ์"คดีอากง" ขอประกันตัว โดย 7 นักวิชาการ

ที่ศาลอาญาถนนรัชดาภิเษก ทนายความจะยื่นอุทธรณ์ในคดีที่นายอำพล ต. หรือที่รู้จักในชื่อ"อากง" เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ เวลา 13.00 น. ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 20 ปี ในข้อหาส่งข้อความสั้น4 ข้อความไปยังโทรศัพท์ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่นแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

คดีดังกล่าวมีคำพิพากษาเมื่อวันที่23 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา เป็นเลขคดีแดงที่ อ.4726/2554คำพิพากษาศาลชั้นต้นชี้ว่า ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ที่ได้จาก บริษัทโทเทิลแอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ดีแทค) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) นั้น มีความน่าเชื่อถือเพราะหากจัดเก็บไม่ถูกต้องจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและอาจเสียประโยชน์ทางธุรกิจและชี้ว่าประเด็นต่อสู้ของจำเลยที่ว่า เลขอีมี่เปลี่ยนแปลงได้ แต่จำเลยกลับไม่สามารถหาตัวผู้เชี่ยวชาญมายืนยันได้ศาลยังชี้ว่านายอำพลรับว่าใช้โทรศัพท์เครื่องนี้อยู่ผู้เดียวและเชื่อว่าผู้กระทำผิดใช้ซิมการ์ดสองเลขหมาย เลขหมายหนึ่งเป็นของนายอำพลอีกเลขหมายหนึ่งเป็นหมายเลขที่ปรากฏว่าส่งข้อความไปยังโทรศัพท์ของนายสมเกียรติทั้งนี้ ประวัติการใช้งานชี้ว่าซิมการ์ดทั้งสองถูกใช้งานเวลาใกล้เคียงกัน แต่ไม่เคยถูกใช้งานเวลาที่ซ้ำกันทั้งยังส่งจากย่านที่จำเลยพักอาศัย นอกจากนี้ ศาลยังระบุว่าแม้โจทก์ไม่สามารถสืบพยานให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ส่งข้อความจริงแต่เพราะเป็นการยากที่จะสามารถนำสืบได้ด้วยประจักษ์พยานเนื่องจากจำเลยเป็นผู้กระทำผิดจึงย่อมปกปิดการกระทำของตน การพิพากษาคดีจึงจำต้องอาศัยประจักษ์พยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบเพื่อชี้ให้เห็นเจตนาที่อยู่ภายใน

โดยในวันที่20 ก.พ. 2555 นี้ ทนายความจะยื่นอุทธรณ์โดยย้ำประเด็นที่ว่า เพียงลำพังหมายเลขอีมี่ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์ความผิดได้เพราะสามารถแก้ไขได้ง่าย อีกทั้งจากพยานเอกสารของโจทก์ยังปรากฏชัดว่า ระบบการเก็บข้อมูลการส่งข้อความสั้นของบริษัทดีแทคไม่สามารถตรวจสอบหมายเลขอีมี่ได้ซึ่งมิได้เป็นไปตามที่พยานโจทก์มาเบิกความ และในชั้นอุทธรณ์นี้ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอสืบพยานเพิ่มเติมโดยอ้างความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านโทรศัพท์มือถือจากประเทศเยอรมนี

นอกจากนี้กระบวนการสอบสวนยังมีข้อพิรุธเพราะลำดับของวันที่ในเอกสารสลับกันไปมาไม่เป็นไปตามขั้นตอนการสืบสวนดังที่เจ้าหน้าที่สืบสวนเบิกความไว้จึงแสดงให้เห็นว่าเป็นการสืบสวนที่มุ่งเป้ามาที่ตัวจำเลย ไม่ได้สืบสวนจากพยานหลักฐานตามเหตุตามผลโจทก์จึงไม่สามารถพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยได้อย่างแน่ชัดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดซึ่งตามหลักวิธีพิจารณาความอาญาต้องยกประโยชน์ความสงสัยให้จำเลย และขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง

ทั้งนี้นายอำพลถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2553 และถูกคุมขังสองเดือนก่อนศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวแต่เมื่อนายอำพลไปรายงานตัวเพื่อรับทราบคำสั่งฟ้องของอัยการในวันที่ 18 มกราคม 2554 ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัวอีกด้วยเหตุที่ว่าเกรงจำเลยจะหลบหนีโดยในวันยื่นอุทธรณ์วันที่ 20 ก.พ. 55 นี้และทนายความจะยื่นขอประกันตัวอีกครั้ง โดยมีนักวิชาการจำนวน 7 คนเป็นนายประกัน เช่น ผศ.บุญส่ง ชัยสิงห์กานนท์ คณะอักษรศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร, ผศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น พร้อมกับเงินสดจำนวนหนึ่งจากกองทุนยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

ทั้งนี้ นางรสมาลิน ภรรยาของนายอำพล ได้อดข้าวประท้วงเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานในการได้รับการประกันตัวตั้งแต่เวลา 8.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 19ก.พ. ถึง 8.00 น. ของวันจันทร์ที่ 20 ก.พ.นี้

คดีนายอำพลอยู่ในความดูแลของเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นการรวมตัวของนักกฎหมายรุ่นใหม่ที่ทำงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจากลูกความ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง