ก.พาณิชย์คุมราคาหมูหน้าเขียง 100 บาท/กก. ผู้ค้าวอนควบคุมพ่อค้าคนกลาง

เศรษฐกิจ
21 ก.พ. 55
11:53
15
Logo Thai PBS
ก.พาณิชย์คุมราคาหมูหน้าเขียง 100 บาท/กก. ผู้ค้าวอนควบคุมพ่อค้าคนกลาง

หลังกรมการค้าภายใน ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการห้างค้าปลีก และตลาดสด ปรับลดราคาขายเนื้อหมูลงเหลือกิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งจะมีผลในวันพรุ่งนี้ พ่อค้าแม่ค้าเขียงหมูอ้าง ราคาหมูหน้าฟาร์มที่สูง ทำให้ราคาเนื้อหมูหน้าเขียงปรับตัวสูงขึ้นตาม

การซื้อขายหมูที่ตลาดสดห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พบว่า ราคาขายปลีกของหมูเนื้อแดงราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 100-140 บาท พ่อค้าแม่ค้าเขียงหมูหลายคนบอกว่า พร้อมทำตาม หากกรมการค้าภายในประกาศให้ลดราคาเนื้อหมูลง แต่ต้องการให้รัฐบาลควบคุมราคาหมูหน้าฟาร์มที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงปัญหาจากพ่อค้าคนกลางที่กว้านซื้อหมูราคาถูก แต่ส่งให้เขียงหมูในราคาแพง รวมทั้งต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นด้วย
 
ขณะที่ผู้บริโภคบางคน ระบุว่า ต้องแบกรับภาระราคาสินค้าแทบทุกชนิดที่ปรับตัวสูงขึ้น จึงต้องการให้มีการควบคุมราคาสินค้าอย่างจริงจัง
 
ซึ่งในสัปดาห์หน้า กรมการค้าภายในเตรียมเชิญผู้ประกอบการ พ่อค้าคนกลางทั้งหมด หารือ เพื่อกำหนดราคาขายเนื้อหมูในราคาที่สอดคล้องกับตลาด หากไม่ได้รับความร่วมมือ จะใช้มาตรการทางกฎหมาย คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาตรา 29 จงใจทำให้ราคาสินค้าปั่นป่วน มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542
 
ส่วนเขียงหมู หากพบขายเกินราคาที่ขอความร่วมมือ ก็จะใช้พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เอาผิด
 
ขณะที่ราคาเนื้อหมูในต่างจังหวัด ที่ตลาดสดหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ผู้ค้าส่วนใหญ่ ระบุว่า ปกติขายเนื้อหมูในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ประกาศควบคุม โดยปัจจุบันราคาขายเนื้อหมูที่ตลาดสดหาดใหญ่ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 100 ถึง 110 บาท ส่วนเนื้อสันในจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท โดยราคาแนะนำใหม่จะมีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้ ส่วนผู้ค้าเนื้อหมูที่ตลาดสด ในจังหวัดสตูล เชื่อว่า หากมีการควบคุมราคาก็ไม่น่าส่งผลกระทบกับผู้ขาย
 
ด้านผู้ค้าเนื้อหมู ในภาคกลาง ที่ตลาดสดศรีนคร เขตเทศบาลจังหวัดนครสวรรค์ ส่วนใหญ่ บอกว่าไม่สามารถปรับลดราคาตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดได้ เพราะรับจากพ่อค้าคนกลางมากิโลกรัมละ 115 บาท จึงขายปลีกในกิโลกรัมละ 130 ถึง 135 บาท หากต้องการให้ขายในราคาที่กำหนด กระทรวงพาณิชย์ต้องควบคุมราคาจากพ่อค้าคนกลางด้วย

ส่วนผู้ประกอบการประเภทร้านขายอาหารตามสั่ง ในจังหวัดศรีสะเกษ ระบุว่า แม้ราคาเนื้อหมูจะปรับลดลง ก็ยังคงขายอาหารในราคาปกติ แต่เพิ่มปริมาณอาหารแทนให้ เนื่องจากต้นทุนอื่นๆ อย่างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และแก๊สหุงต้มยังมีราคาสูงอยู่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง