เครือข่ายแรงงานชาติ หวั่นนโยบาย"ต่ออายุพิสูจน์สัญชาติ" แรงงานวืด

สังคม
22 ก.พ. 55
08:53
12
Logo Thai PBS
เครือข่ายแรงงานชาติ หวั่นนโยบาย"ต่ออายุพิสูจน์สัญชาติ" แรงงานวืด

เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ หวั่นนโยบายต่ออายุพิสูจน์สัญชาติแรงงานวืด ชี้กระทรวงแรงงาน เปิดพิสูจน์สัญชาติออนไลน์กับพม่าไม่ได้ผล ขั้นตอนไม่เอื้อต่อแรงงาน ด้านสภาทนายความห่วงโรฮิงญาไม่ได้เข้าข่ายในการคุ้มครองวอนรัฐเจรจาพม่ารับรองสถานภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อช่วงต้นอาทิตย์ที่ผ่านมาในเรื่องการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ปี 2555  โดยเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอ ซึ่งมีหลักสำคัญในเรื่องของการขยายเวลาในการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่จากเดิมกำหนดให้แรงงานพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ให้ขยายออกไปเป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2555 พร้อมกันนี้กรมการจัดหางานกระทรวงแรงานยังได้ประสานไปที่ประเทศพม่าเมื่อทำการพิสูจน์สัญชาติแบบออนไลน์เพื่อให้เกิดควาามสะดวกต่อการดำเนินการของแรงงานด้วย

มติของคณะรัฐมนตรีและการดำเนินงานของกรมการจัดหางานกระทรวงแรงงานที่มีออกมาในครั้งนี้นั้นได้เกิดความเป็นกังวลของเครือข่ายผู้ประกอบการและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินงานเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ โดยนายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant working group) กล่าวว่า มติของคณะรัฐมนตรีที่มีออกมาในครั้งนี้นั้นจะทำให้แรงานงานที่ยังพิสูจน์สัญชาติไม่แล้วเสร็จได้ขยายเวลาในการพิสูจน์สัญชาติออกไปอีกประมาณ 4 เดือน  ซึ่งปัญหาไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่รัฐขยายออกไปหากแต่ขึ้นอยู่กับกระบวนการที่รัฐจะดำเนินการต่อจากนี้ เพราะมติคณะรัฐมนตรีครั้งนี้นั้นถือเป็นการประกาศแบบรวดเร็วมากทำให้แรงงานและผู้ประกอบการหลายฝ่ายอาจจะเตรียมไม่ทัน โดยเฉพาะกรณีที่กรมการจัดหางานกระทรวงแรงงานที่ได้ประสานงานกับทางการของประเทศพม่าในการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแบบออนไลน์นั้นรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องประชาสัมพันธ์ให้ดีทั้งภาษาพม่า และภาษาไทยเพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้ทราบถึงขั้นตอนและวิธีการในการดำเนินการอย่างชัดเจน เพราะปัญหาเรื่องการพิสูจน์สัญชาติที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักมีปัญหาในเรื่องของการประชาสัมพันธ์

ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant working group) กล่าวว่าอีกว่า อย่างไรก็ตามเรื่องที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญอีกเรื่องคือเรื่องของระบบประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติ ที่มีนายจ้างหลายคนยังไม่ดำเนินการตามสิทธิให้กับแรงงานทำให้แรงงานหลายคนไม่เข้าใจสิทธิของตนเองและต้องเสียสิทธิและต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลในอัตราที่แพงทั้งที่ต้องจ่ายเงินสมทบให้กับระบบประกันสังคมทุกเดือน ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือหลังจากกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแล้วเสร็จจะต้องมีแรงงานอีกจำนวนมากที่ดำเนินการไม่ทันและอีกจำนวนมากอาจไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งแรงงานตรงส่วนนี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้มีนโยบายที่ออกมาอย่างชัดเจนเลยว่าจะดำเนินการอย่างไร หรือจะดูแลพวกเขาอย่างไร

นายอดิศร ระบุถึงกระบวนการในการแก้ไขปัญหาอีกว่ารัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหาช่องทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติที่อาจพิสูจน์สัญชาติไม่ผ่านว่า รัฐควรจะต้องมีมาตรการพิสูจน์สถานะความเป็นคนไร้รัฐของแรงงานกลุ่มนี้ ขณะเดียวกันควรเร่งออกกฎระเบียบเปิดให้มีการจ้างงานชายแดน เพื่อรองรับการขยายเขตนิคมอุตสาหกรรมออกไปยังบริเวณตะเข็บชายแดนซึ่งเป็นแหล่งที่แรงงานข้ามชาติสามารถข้ามเข้ามาทำงานได้โดยไม่ต้องค้างหรืออยู่อาศัยในประเทศไทยระยะยาว และอาจจะต้องจัดทำระบบการจ้างงานที่ยืดหยุ่นที่สามารถทำให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้

ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความกล่าวว่า ตนเชื่อว่าถึงแม้รัฐบาลจะขยายเวลาในการพิสูจน์สัญชาติของแรงงานข้ามชาติอออกไปอีกก็ไม่สำเร็จเพราะกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อนและเนิ่นนานของรัฐบาล ตนเชื่อว่าพอหลังจากเดือนมิถุนายแล้วรัฐก็ต้องขยายเวลาออกไปอีก  สิ่งที่ตนเป็นกังวลมากที่สุดคือแรงงานที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในมติของคณะรัฐมนตรีครั้งนี้เลยคือ กลุ่มแรงงานโรฮิงญาที่ไม่ว่าจะไปตรงส่วนไหนก็ไม่มีรัฐบาลไหนรับรองสถานภาพให้ ขณะนี้รัฐบาลพม่าได้มีท่าทีในการเปิดประเทศขึ้นเยอะกว่าเดิมแล้ว รัฐบาลไทยควรที่จะเจรจากับรัฐบาลพม่าให้รองรับสถานภาพของกลุ่มแรงงานโรฮิงญาเพื่อที่เขาจะได้มีสถานภาพและดูแลตนเองและปกป้องสิทธิของตนเองได้
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง